อาหารประเภทไหนทำให้โพแทสเซียมในร่างกายสูง

โดย Boontharika Boonchaisaen
Foodandpotassium

ถ้าพูดถึงอาหารที่ทำให้โพแทสเซียมสูง หลายคนคงนึกถึง “กล้วย”  แล้วใครรู้บ้างคะว่า นอกจากกล้วย ยังมีอาหารประเภทไหนบ้าง ที่รับประทานไปแล้ว ทำให้โพสแทสเซียมในร่างกายสูงได้อีก…

อาหารประเภทไหนทำให้โพแทสเซียมในร่างกายสูง

วันนี้มีคนไข้รายหนึ่งมาด้วยค่าโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ จากการซักประวัติคนไข้บอกว่าไม่ได้กินกล้วยมาเลย แต่คนไข้บอกว่า ช่วงนี้กินทุเรียน นม ผักคะน้า มาค่ะ จะเป็นไปได้หรือเปล่าว่า ที่คนไข้มาด้วยค่าโพแทสเซียมในเลือดสูงจะเกิดจากอาหารเหล่านี้ งั้นเรามาหาข้อมูลไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ

โพแทสเซียมคืออะไร?

เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเป็นปกติ เช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมสมดุลของอิเล็กโตรไลต์และสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย ป้องกันภาวะกรดเกิน (hyperacidity) และควบคุมความดันโลหิตที่สูง ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

ระดับโพแทสเซียมสูงหรือต่ำมีผลกับร่างกายอย่างไร

Img 0159

  • ระดับโพแทสเซียมปกติในเลือด จะอยู่ในช่วง 3.5 – 5.0 mEq/L
  • ถ้าระดับโพแทสเซียมต่ำในเลือด หรือ < 3.5 mEq/L อาจทำให้มีอาการซึม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และตะคริวได้
  • ถ้าระดับโพแทสเซียมสูงในเลือด หรือ > 5.0 mEq/L อาจเกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

อาหารประเภทใดบ้างที่มีผลต่อระดับโพแทสเซียม

  • อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง (กลุ่มผักสีเข้ม) ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง นมและผลิตภัณฑ์จากนม ทุเรียน กล้วย ลำไย ผลไม้แห้งต่างๆ เช่น ลูกเกด ลูกพรุน แครอท มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า หัวปลี ผักชี มันฝรั่ง
  • อาหารที่มีโพแทสเซียมปานกลาง ได้แก่ สับปะรด ฝรั่ง แอปเปิ้ล เงาะ ส้ม องุ่น ลิ้นจี่ แคนตาลูป ส้มโอ มะม่วงดิบ มะเขือยาว หอมหัวใหญ่ ผักบุ้งจีน มะละกอดิบ ถั่วพู (ฝักอ่อน) พริกหวาน
  • อาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ (กลุ่มผักสีซีด)ได้แก่ ชมพู่ องุ่นเขียว แตงโม บวบเหลี่ยม เห็ดหูหนู ฟักเขียว ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา

จากข้อมูลดังกล่าว หลายคนน่าจะพอรู้แล้วว่า ทำไมคนไข้รายนี้ถึงมาด้วยค่าโพแทสเซียมในเลือดสูง เพราะนอกจากกล้วยแล้ว ก็ยังมีอาหารอีกหลายประเภทที่ทำให้ค่าโพแทสเซียมสูงได้ รวมถึงทุเรียน นม และคะน้าที่คนไข้รายนี้รับประทานอีกด้วย

ปริมาณโพแทสเซียมในผลไม้(ขอบคุณภาพจาก โภชนาการเพื่อการป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ)

ในคนปกติที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับโพแทสเซียมในปริมาณ 4.7 กรัมต่อวัน (ข้อมูลจาก Food and Nutrition Board, Institute of Medicine) แต่ถ้าคนไข้โรคไตวายเรื้อรัง เบาหวานและภาวะหัวใจล้มเหลว ควรได้รับโพแทสเซียมน้อยกว่า 4.7 กรัมต่อวัน เนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในการขจัดโพแทสเซียมออกจากร่างกายค่ะ

การรับประทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งมากหรือน้อยไปก็ไม่ดี ดังนั้นจึงควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายและถูกต้องตามหลักโภชนาการจะดีกว่านะคะ…

บทความโดย อยู่กับยา

แหล่งข้อมูล : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลโภชนาการเพื่อการป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ

 

Facebook Comments

You may also like