เพราะเหตุใด? ผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟารินจึงไม่ควรดื่มนมถั่วเหลือง

โดย Boontharika Boonchaisaen

บทความก่อนหน้าเคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับอาหารที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินไปแล้ว แต่นอกจากจะต้องระวังเรื่องการรับประทานยา อาหารและอาหารเสริมต่างๆ ที่อาจเกิดอันตรกิริยากับยาวาร์ฟาริน ผู้ป่วยเหล่านี้ยังต้องระวังเรื่องการรับประทานนมอีกด้วย ซึ่งนมประเภทที่ควรระวังนั้นก็คือ นมถั่วเหลือง หรือ Soy milk นั่นเองค่ะ

มาทำความรู้จักกับคำว่า อันตรกิริยา กันก่อนดีกว่า

อันตรกริยา (Interactions) คือ ปฏิกิริยาทางเภสัชวิทยาระหว่างกันของสารทั้งสองชนิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับของยาในร่างกาย การต้านฤทธิ์ การเสริมฤทธิ์ การเพิ่มหรือลดผลข้างเคียงของยา การเกิดพิษหรืออาจทำให้เกิดฤทธิ์ใหม่ขึ้นได้ ซึ่งอันตรกิริยาที่สามารถเกิดขึ้นได้ มีทั้งระหว่างยากับยา, ยากับอาหาร, ยากับสมุนไพร หรือแม้แต่ยากับอาหารเสริมก็ได้เช่นกัน

เพราะเหตุใด? ผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟารินจึงไม่ควรดื่มนมถั่วเหลือง

จากประสบการณ์การทำงานในคลินิกาวาร์ฟาริน พบว่า ผู้ป่วยวาร์ฟารินบางรายที่มีด้วยมาค่าเลือด(INR) ต่ำ หลังจากซักประวัติแล้วพบว่า ผู้ป่วยดื่มนมถั่วเหลืองเป็นประจำทุกวันวันละ 3 มื้อเป็นเวลา 1 อาทิตย์ก่อนมารพ. โดยไม่พบสาเหตุอื่นที่ส่งผลให้ค่าเลือดต่ำ และหลังจากที่แนะนำให้ลองหยุดดื่มนมถั่วเหลือง และตรวจวัดค่าเลือดในเวลาต่อมา กลับพบว่า ค่าเลือดอยู่ในช่วงเป้าหมาย

เช่นเดียวกับการศึกษาเรื่อง Effect of soy milk on warfarin efficacy  ที่รายงานว่า พบเคสชายผิวขาวอายุ 70 ปีมาด้วยค่า INR ต่ำ จากการซักประวัติไม่พบปัญหาเรื่องความไม่ร่วมมือในการรับประทานยา, การรับประทานยาอื่น หรือโรคร่วมอื่นๆ และไม่ได้รับประทานผักใบเขียวหรืออาหารที่มีวิตามินเคสูงเพิ่มขึ้น แต่หลังจากหยุดการดื่มนมถั่วเหลืองเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ผลปรากฏว่าค่า INR อยู่ในช่วงเป้าหมาย และตรวจซ้ำอีกครั้งในเวลา 2 เดือนต่อมา ค่า INR ก็ยังคงปกติอยู่ ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่านมถั่วเหลืองทำอันตรกิริยากับยาวาร์ฟาริน ส่งผลให้ค่า INR ต่ำลงได้

โดยการศึกษาดังกล่าว ได้กล่าวถึงกลไกการเกิดอันตรกิริยาระหว่างนมถั่วเหลืองกับยาวาร์ฟารินไว้ว่า..

อาจเกิดจากอันตรกริยาทางด้านเภสัชจลศาสตร์ (Pharmacokinetic interactions) หรือ ปฎิกริยาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับยาในร่างกายไปจากปกติทั้งในเลือด เนื้อเยื่อ หรือตำแหน่งที่ยาออกฤทธิ์ โดยไปมีผลต่อการดูดซึมยา (Absorption) และการกระจายตัวยาจากเลือดผ่านเนื้อเยื่อ (Permeability across barrier, P-glycoprotein) จึงทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ลดลง

และจากข้อมูลของเว็บไซต์ https://pharmacist.therapeuticresearch.com/ ได้อธิบายเกี่ยวกับถั่วเหลืองไว้ว่า ถั่วเหลืองเป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเค ซึ่งปริมาณของวิตามินเคที่เกิดจากการแปรรูปถั่วเหลืองนั้นจะแตกต่างกันไป โดยวิตามินเคมีผลไปต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ทำให้อาจลดฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินได้ มีรายงานผู้ป่วยวาร์ฟารินที่ดื่มนมถั่วเหลืองทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน ผลการตรวจเลือดพบว่า ค่า INR ต่ำกว่าช่วงเป้าหมาย แต่เนื่องจากนมถั่วเหลืองมีปริมาณวิตามินเคค่อนข้างต่ำ ดังนั้น จึงเชื่อว่าน่าจะเกิดจากกลไกอื่นที่ส่งผลให้ค่า INR ต่ำลง

อาหารชนิดใดบ้างที่มีวิตามินเค

ตารางด้านล่างเป็นตารางแสดงรายชื่ออาหารที่มีวิตามินเคที่มีปริมาณต่ำไปหาสูง ซึ่งผู้ป่วยที่กำลังรับประทานวาร์ฟารินอยู่ อาจไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงทุกชนิด แต่ควรระวังหรือไม่ควรปรับเปลี่ยนปริมาณการรับประทานอาหารที่มีวิตามินเคสูง เช่น บล็อคโคลีหรือกะหล่ำปลี เนื่องจากอาจส่งผลให้ค่า INR เปลี่ยนแปลงไปได้ค่ะ

ตารางแสดงอาหารที่มีวิตามินเค แหล่งข้อมูล : เว็บไซต์ https://pharmacist.therapeuticresearch.com/

ดังนั้น ผู้ป่วยวาร์ฟารินควรระวังการดื่มนมถั่วเหลือง หรืออาหารที่มีวิตามินเคสูง เนื่องจากอาจทำให้ยาวาร์ฟารินออกฤทธิ์ได้ลดลง และปัญหาเรื่องนมถั่วเหลืองนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่เภสัชกรควรถามผู้ป่วยที่กำลังรับประทานยาวาร์ฟารินอยู่เช่นกันค่ะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องยาวาร์ฟารินได้ ที่นี่

แปลและเรียบเรียงโดย  อยู่กับยา

แหล่งที่มา : Effect of soy milk on warfarin efficacy, What You Should Know About Your Diet and Warfarin, อันตรกริยาของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับยาแผนปัจจุบัน

Facebook Comments

You may also like