เคยสงสัยมั้ย? ว่าทำไมยาบางตัวกินแล้วปัสสาวะมีสีเปลี่ยนไป

โดย Boontharika Boonchaisaen
Urine Color

นอกจากการจ่ายยาแล้ว.. อีกหนึ่งบทบาทของเภสัชกร คือ ช่วยแพทย์หรือพยาบาลค้นหา “DRP, Drug Related Problems” หรือ ปัญหาที่เกี่ยวกับยา และปัญหาที่คุ้นเคยของเภสัชกรที่มักจะได้ค้นหานั่นก็คือ คนไข้กินยาตรงตามแพทย์สั่งหรือไม่?

pillsนอกจาการนับเม็ดยาเพื่อประเมินความร่วมมือในการใช้ยาของคนไข้แล้ว อีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยสังเกตหรือดูว่าคนไข้พูดความจริงหรือไม่ เพราะอาจมีบางคนที่บอกว่า กินยาทุกวันตามแพทย์สั่ง แต่ความจริงแล้วไม่ได้กินก็มี นั่นคือ “การสังเกตสีของปัสสาวะคนไข้ค่ะ” เพราะสีของปัสสาวะ สามารถบอกได้ว่า “คนไข้พูดความจริงหรือโกหก”

ยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาวัณโรค เป็นยาที่ต้องกินทุกวันห้ามลืมกินเด็ดขาด เพราะถ้าลืมกินเชื้อวัณโรคอาจดื้อยาได้ ทำให้ต้องปรับสูตรการรักษาใหม่

ดังนั้น เภสัชกรทุกคนจึงต้องกำชับคนไข้เสมอว่า “ห้ามลืมกินยา”

และบางครั้งต้องมีคนยืนเฝ้าหรือคอยสังเกตดูตอนที่คนไข้วัณโรคกินยา ว่ากลืนลงคอแล้วจริงหรือเปล่า? ทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ในการใช้ยาของคนไข้ค่ะ…

ปัสสาวะ

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปัญหาการใช้ยาของคนไข้รายหนึ่ง แพทย์ได้ปรึกษาเภสัชกรเพื่อให้ดูความร่วมมือในการใช้ยาวัณโรคของคนไข้ เพราะแพทย์สังเกตเห็นว่า “ปัสสาวะของคนไข้ไม่ได้เป็นสีส้มแดง” และผลการรักษาไม่ตอบสนองต่อยาวัณโรคสูตรที่คนไข้ได้รับ แพทย์จึงสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอะไร? ซึ่งเภสัชกรต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์ในการหาปัญหาเกี่ยวกับยา หลังจากซักประวัติหรือคุยกับคนไข้เรียบร้อยแล้วจึงพบว่า คนไข้ไม่ได้กินยาทุกวันตามแพทย์สั่งนั่นเองค่ะ

อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจกำลังงงว่า แล้วมันยาอะไรทำไมกินแล้วต้องปัสสาวะสีส้มแดง? ยาตัวนั้นชื่อ Rifampicin เป็นยารักษาวัณโรคค่ะ 🙂

ทำไมยา Rifampicin ถึงทำให้ปัสสาวะมีสีส้มแดง?

Rifampicin

ยา Rifampicin (Rifampin) เป็นยารักษาวัณโรค โครงสร้างของยาตัวนี้จะมีหมู่ทางเคมีที่แสดงสีส้มแดง ทำให้ตัวผงยามีสีส้มแดง ดังนั้น เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้สารคัดหลั่งในร่างกาย (น้ำลาย น้ำมูก น้ำตา ปัสสาวะ) เปลี่ยนสีเป็นสีส้ม หรือสีแดง อาการที่ว่าสารคัดหลั่งสีส้มแดงนี้จัดเป็นอาการข้างเคียงของยา Rifampicin ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อผู้ป่วย และเมื่อหยุดยา อาการดังกล่าวก็จะหายไปเองค่ะ ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่า คนไข้กินยาจริงหรือเปล่า?

และนอกจากยา Rifampicin ก็ยังมียาตัวอื่นๆอีกที่สามารถทำให้ปัสสาวะของคนไข้มีสีเปลี่ยนไปได้ ดังนี้ค่ะ

ยากับปัสสาวะ

ขอบคุณภาพจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

อย่างไรก็ตาม หากคนไข้ไม่มั่นใจว่าสีปัสสาวะที่เปลี่ยนไปเกิดจากยาจริงหรือเปล่า หรืออาจมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย ก็ควรมาปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมค่ะ

และนอกจากยาบางตัวจะทำให้ปัสสาวะสีเปลี่ยนไปแล้ว ยังสามารถทำให้สีของอุจจาระเปลี่ยนไปได้เช่นกัน โปรดติดตามในบทความหน้าที่เพจ อยู่กับยา นะคะ 🙂

แหล่งข้อมูล : ศูนย์เภสัชสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Facebook Comments

You may also like