อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตของสาวๆ ที่หลายคนส่งข้อความมาถามกันหลังไมค์นั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องการรับประทานยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม, ฮอร์โมนเดี่ยว หรือแม้แต่ยาคุมฉุกเฉิน ล้วนแต่มีวิธีการรับประทานที่แตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่สาวๆทั้งหลาย หรือแม้แต่หนุ่มๆเองก็ควรศึกษาไว้เป็นความรู้ เพราะการคุมกำเนิดนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย หลายๆประเทศรวมถึงไทยเอง ต่างพบว่าสถิติหรืออัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจนั้น เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากประชาชนไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุมกำเนิดนั่นเอง
ยาคุมกำเนิด(Oral contraceptive pills) คืออะไร
ยาคุมกำเนิดมีสองชนิด คือแบบฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจนและโปรเจสติน) และแบบฮอร์โมนเดี่ยว (โปรเจสติน) ยาคุมกำเนิดแบบเม็ดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ แบบฮอร์โมนรวม ส่วนแบบฮอร์โมนเดี่ยวพิจารณาใช้กรณีมีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรหลังคลอด หรือกรณีใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาคุมกำเนิดออกฤทธิ์ผ่าน 3 กลไก คือ
- ควบคุมระดับฮอร์โมนของร่างกายเพื่อไม่ให้เกิดการตกไข่
- เพิ่มความเหนียวข้นให้กับของเหลวบริเวณปากมดลูกเพื่อให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิได้ลำบาก
- ทำให้ผนังมดลูกบางเพื่อไม่ให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วสามารถฝังตัวได้
ควรรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างไร
ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมอาจมีจำนวนในเม็ดในแผงที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ที่สาวๆคุ้นเคยมักจะมีจำนวน 21 หรือ 28 เม็ด
- การรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด แนะนำให้เริ่มทานเม็ดแรกในวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งถัดไป จากนั้นรับประทานเม็ดต่อไปในเวลาเดียวกันของทุกวันจนหมดแผง เมื่อทานหมดแผงให้เว้น 7 วัน แล้วค่อยเริ่มแผงใหม่ โดยช่วง 7 วันที่หยุดทานยานั้นอาจมีเลือดออกคล้ายประจำเดือนได้ ซึ่งในช่วง 7 วันที่หยุดยาก็ยังคงฤทธิ์การคุมกำเนิดได้อยู่
- การรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด การรับประทานจะเหมือนกับชนิด 21 เม็ด แต่จะไม่มีช่วงหยุดยา 7 วัน เพราะจะเปลี่ยนเป็นการรับประทานเม็ดยาที่ไม่มีฮอร์โมน 7 เม็ดหรือเม็ดแป้งแทน เพื่อช่วยไม่ให้ลืมทานยา เมื่อรับประทานครบ 28 เม็ด ก็สามารถเริ่มทานแผงใหม่ได้เลย
ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้เช่น คลื่นไส้(nausea) อาเจียน (vomiting) เจ็บคัดเต้านม (breath tenderness) หรือมีเลือดออกกระปริดกระปรอย (spotting) เป็นต้น
สำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงอาจเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลเพิ่มการเกิดการแข็งตัวของเลือด (blood clotting) ซึ่งเพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน (thrombosis)ในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง(severe headache), ปวดขารุนแรง(severe leg pain), มองเห็นภาพซ้อน(blurred vision) และปวดช่องท้อง (abdominal pain) เป็นต้น
หากลืมรับประทานยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ควรทำอย่างไร
สำหรับคำแนะนำหากลืมรับประทานยาคุมกำเนิดหรือเริ่มรับประทานล่าช้า ในบทความนี้จะขออ้างอิงจาก 2 แหล่งด้วยกันคือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) และ องค์การอนามัยโลก (WHO)
คำแนะนำของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ได้แนะนำว่า
- กรณีลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 1 เม็ดหรือล่าช้าน้อยกว่า 2 วัน :
- ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้และรับประทานยาเม็ดต่อไปในเวลาเดิมของทุกวันตามปกติ (ภายในวันนั้นจะได้รับประทานยาทั้งหมด 2 เม็ด) และอาจไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย
- ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วย ในกรณีที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 หรือสัปดาห์ที่ 3 ของแผง
- กรณีลืมรับประทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไปหรือล่าช้าตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป :
- ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้โดยให้ข้ามเม็ดที่ลืมไป หลังจากนั้นรับประทานยาเม็ดต่อไปในเวลาเดิมของทุกวันตามปกติ (ภายในวันนั้นจะได้รับประทานยาทั้งหมด 2 เม็ด)
- แนะนำให้คุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การใส่ถุงยางอนามัย หรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะกลับมารับประทานยาคุมกำเนิดวันละ 1 เม็ดตามปกติเป็นเวลา 7 วัน
- หากลืมรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ดในสัปดาห์ที่ 3 ของแผง (เม็ดที่ 15-21) ไม่ต้องรับประทานเม็ดที่ไม่ได้ผสมฮอร์โมน (The hormone-free interval) ซึ่งนับตั้งแต่เม็ดที่ 22 ไปจนครบ 28 เม็ด และเริ่มกินยาคุมกำเนิดแผงใหม่ในวันถัดไปได้เลย
- ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วย ในกรณีที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดในช่วงสัปดาห์แรกของแผงหรือไม่ได้คุมกำเนิดวิธีอื่นขณะมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ 5 วันก่อนลืมรับประทานยา
ส่วนคำแนะนำของ องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้แนะนำว่า
- สำหรับยาคุมกำเนิดที่มี Ethinyl estradiol 30-35 mcg
- ลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 1 เม็ด หรือเริ่มแผงใหม่ช้า 1 วัน : ควรรับประทานยาคุมกำเนิดที่ลืมทันทีที่นึกขึ้นได้ และรับประทานเม็ดต่อไปในเวลาเดิมของทุกวันตามปกติ
- ลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 2 เม็ด หรือเริ่มแผงใหม่ช้า 2 วัน : ควรรับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดแรกที่ลืมทันทีที่นึกขึ้นได้ ทิ้งเม็ดที่ 2 ที่ลืม และรับประทานเม็ดต่อไปในเวลาเดิมของทุกวัน หรือจะรับประทานเม็ดที่ลืม 2 เม็ดพร้อมมื้อปกติ 2 วันติดกัน และรับประทานเม็ดต่อไปในเวลาเดิมของทุกวันตามปกติ
- ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่ 3 เม็ดขึ้นไป หรือเริ่มแผงใหม่ช้าตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป : ควรรับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดแรกที่ลืมทันทีที่นึกขึ้นได้ ทิ้งเม็ดที่ 2 ที่ลืม และรับประทานเม็ดที่ลืม 2 เม็ดพร้อมมื้อปกติ 2 วันติดกัน หรือจะรับประทานเม็ดที่ลืม 3 เม็ดพร้อมมื้อปกติ 3 วันติดกัน และรับประทานเม็ดต่อไปในเวลาเดิมของทุกวันตามปกติ
- แนะนำให้คุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การใส่ถุงยางอนามัย หรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะกลับมารับประทานยาคุมกำเนิดวันละ 1 เม็ดตามปกติเป็นเวลา 7 วัน
- หากลืมรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ดในสัปดาห์ที่ 3 ของแผง (เม็ดที่ 15-21) ไม่ต้องรับประทานเม็ดที่ไม่ได้ผสมฮอร์โมน (The hormone-free interval) ซึ่งนับตั้งแต่เม็ดที่ 22 ไปจนครบ 28 เม็ด และเริ่มกินยาคุมกำเนิดแผงใหม่ในวันถัดไปได้เลย
- ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วย ในกรณีที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดในช่วงสัปดาห์แรกของแผงหรือไม่ได้คุมกำเนิดวิธีอื่นขณะมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่
- สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มี Ethinyl estradiol 20 mcg
- ลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 1 เม็ด หรือเริ่มแผงใหม่ช้า 1 วัน : ควรรับประทานยาคุมกำเนิดที่ลืมทันทีที่นึกขึ้นได้ และรับประทานเม็ดต่อไปในเวลาเดิมของทุกวันตามปกติ
- ลืมรับประทานยาคุมเม็ดฮอร์โมน 2 เม็ดขึ้นไปหรือเริ่มแผงใหม่ช้าตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป : ทำเหมือนกับการลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 3 เม็ด หรือเร่ิมแผงใหม่ช้า 3 วันของยาคุมกำเนิดที่มี Ethinyl estradiol 30-35 mcg
- สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดที่ไม่มีฮอร์โมน (Non-hormonal pill) : สามารถทิ้งเม็ดที่ลืม และรับประทานเม็ดต่อไปในเวลาเดิมของทุกวันตามปกติ
อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ไขหากลืมรับประทานยาคุมกำเนิดจากทั้ง 2 แหล่งอ้างอิงนั้น ล้วนมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่าง ขึ้นอยู่กับความสะดวกของสาวๆ ว่าจะเลือกใช้วิธีไหน ซึ่งไม่มีความแตกต่างในเรื่องผลการคุมกำเนิด
ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมนั้น มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยจากการศึกษาพบว่าหากมีการใช้ยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะมีอัตราล้มเหลวรายปี 0.3% หรือใน 1000 คน มีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 3 คน แต่ตรงกันข้าม หากสาวๆ รับประทานยาคุมกำเนิดไม่ถูกต้องและไม่สม่ำเสมอ จะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 30 เท่าหรือคิดเป็น 9% ได้เลยทีเดียว ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด ก็คือ วิธีการรับประทานของคุณสาวๆ นั่นเองค่ะ
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : World Health Organization, Centers for Disease Control and Prevention, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม