มีสุภาษิตบอกไว้ “ไก่งามเพราะคน คนงามเพราะแต่ง” แต่ก่อนที่สาว ๆ จะ “แต่ง” ควรเลือกเครื่องสำอางที่ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผิวด้วยนะคะ
แล้วจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่า เครื่องสำอางแบบไหน? ใช้แล้วปลอดภัยไม่หน้าพัง วันนี้ทีมงานมีแอปพลิเคชันดีๆ ที่จะช่วยสาวๆเลือกเครื่องสำอางอย่างปลอดภัย มาฝากกันค่ะ ชื่อแอปฯว่า “Oryor Smart Application” แต่ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับเจ้าแอปฯ ที่ว่านี้ เรามาทำความรู้จักกับ “เครื่องสำอาง” กันก่อนดีกว่า 🙂
เครื่องสำอางคืออะไร?
ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ได้นิยามความหมายของ “เครื่องสำอาง” ไว้ดังนี้
- วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
- วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ
- วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง
เครื่องสำอางมีกี่ประเภท?
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 แบ่งประเภทของเครื่องสำอางเป็น 3ประเภท คือ เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ เครื่องสำอางควบคุมและเครื่องสำอางทั่วไป แต่ปัจจุบันกำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุมเท่านั้น ไม่มีประเภทเครื่องสำอางควบคุมพิเศษหรือเครื่องสำอางทั่วไป เนื่องจากมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องยกเลิกการกำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 25 กันยายน พ.ศ.2551
เครื่องสำอางควบคุม คือ เครื่องสำอางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของเครื่องสำอางควบคุม ซึ่งการผลิตเพื่อขายหรือการนำเข้าเพื่อขาย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามมาตรา 27 (มาตรา 5(2)) และมีหน้าที่ต้องจดแจ้งตามมาตรา 28 ต้องมีข้อความว่า “เครื่องสำอางควบคุม”
จะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องสำอางที่ซื้อปลอดภัยหรือเปล่า?
- ดูว่าเป็นเครื่องสำอางปลอมหรือเปล่า โดยดูจากเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ นั่นก็คือ เลขจดแจ้งจากคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งผู้ที่จะผลิตเพื่อขาย นําเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสําอาง ต้องจดแจ้งรายละเอียดของเครื่องสําอางต่อผู้รับจดแจ้ง และเมื่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้ว จึงจะผลิตหรือนําเข้าเครื่องสําอางนั้นได้ค่ะ
- ดูวันหมดอายุ ส่วนผสม ชื่อบริษัทผู้ผลิต ที่อยู่ หรือบริษัทผู้นำเข้า ที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยทั่วไปเครื่องสำอางมีอายุหลังการผลิตนาน3-5 ปี
- ต้องศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียด เพื่อที่จะได้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และปลอดภัย
- ควรศึกษาคำเตือน ให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ควรทดสอบการแพ้เครื่องสำอางด้วยตัวเองด้วยวิธีง่ายๆและเป็นวิธีที่ถูกต้องคือ ให้นำเครื่องสำอางที่ต้องการจะซื้อมาป้ายหรือทาลงบริเวณผิวเนื้ออ่อนๆ ยกตัวอย่างเช่น หลังใบหูหรือท้องแขน อย่างน้อยประมาณ 20 – 30 นาที ถ้าหากเกิดอาการแพ้ ผิวหนังบริเวณนั้นจะเกิดรอยแดง ผื่น หรือรู้สึกระคายเคือง เป็นต้น
- ซื้อเครื่องสำอางจากแหล่งขายที่เชื่อถือได้ มีสถานที่ตั้งและช่องทางการติดต่อที่ชัดเจน มีบริการในระหว่างการขายและหลังการขายที่ดี และ ต้องขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ของปลอมนะคะ
วันนี้ทีมงานมีตัวช่วยสาวๆในการเลือกเครื่องสำอางที่มีมาตรฐานและปลอดภัยมาฝากกันค่ะ นั่นคือ แอปพลิเคชันจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชื่อว่า ” Oryor Smart application”
Oryor Smart application คือ อะไร
เป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เช่น ยา, อาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องมือแพทย์, วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และวัตถุเสพติด
Oryor Smart application มีอะไรบ้าง
- Smart tips รวบรวมเกร็ดข้อมูลน่ารู้จาก อย. ที่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน
- สถานีข่าว อย. ช่วยให้คุณอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ
- ตรวจเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้งเครื่องสำอาง, อาหาร และวัตถุอันตราย
- Library ห้องสมุดที่รวบรวมเอกสารที่น่าสนใจจาก อย.
- ศูนย์ร้องเรียน เมื่อพบผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ใช้แล้วเป็นอันตรายกับร่างกาย แจ้งเรื่องได้อย่างรวดเร็ว
- Media Center รวบรวมสื่อที่สนุกและสร้างสรรค์ของ อย.
- ศูนย์สุขภาพ ตรวจน้ำหนักร่างกาย บันทึกการกิน เพื่อดูแลร่างกายให้เหมาะสม
- Oryor Land ศูนย์รวมเกมฮิตล่าสุดจาก อย. สะสมคะแนนและรางวัลและแข่งกับเพื่อนๆ
- ค้นหาร้านขายยา สามารถค้นหาตำแหน่งร้านยา ที่ใกล้กับคุณได้ทั่วประเทศไทย
และถ้าสาวๆ อยากตรวจสอบเครื่องสำอางว่ายี่ห้อไหนมีมาตรฐานผ่านการรับรองจากอย.หรือเปล่า ง่ายๆค่ะแค่ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- เลือกเมนู “ตรวจเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”
- คลิกที่รูป “แท่งลิปสติก” และ ใส่เลขที่จดแจ้งเครื่องสำอางตรงช่องว่างที่มีสัญลักษณ์ “แว่นขยาย”
เพียงเท่านี้คุณสาวๆก็จะทราบข้อมูลของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวแล้วว่า เป็นของจริงหรือของปลอมค่ะ แต่ขอบอกก่อนนะคะว่าแอปพลิเคชันนี้ใช้ได้เฉพาะ iPhone, iPad และ iPod touch ที่มีระบบปฏิบัติการ หรือ iOS 8.0 ขึ้นไปเท่านั้นค่ะ จึงอาจใช้ไม่ได้สำหรับท่านใดที่มี Smartphone ระบบปฏิบัติการแบบ Android นะคะ
สนใจแอปพลิเคชันสามารถดาวน์โหลดฟรี ได้แล้ววันนี้ที่ App store
แหล่งข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, พระราชบัญญัติ เครื่องสําอาง พ.ศ. ๒๕๕๘