ปัจจุบันหลายคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกของการดูแลสุขภาพที่มีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิต ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่วางขายกันในท้องตลาด มีด้วยกันมากมายหลายประเภท ทำให้บางครั้ง เราอาจสับสนว่าควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวไหน ถึงจะเหมาะกับเรามากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันปลา กับ น้ำมันตับปลา บางคนอาจสงสัยว่า “สองตัวนี้ เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร?” วันนี้ทีมงานอยู่กับยา จึงไปหาคำตอบมาให้ทุกคนได้หายข้องใจกันแล้วค่ะ
น้ำมันปลากับน้ำมันตับปลากันคืออะไร
น้ำมันปลา (Fish oil) และน้ำมันตับปลา (Cod liver oil) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบสำคัญ คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด Omega-3 เป็นกรดไขมันที่ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสร้างเองได้ ซึ่งประโยชน์จากการรับประทานสารจำพวก Omega-3 พบว่า มีการศึกษาในมนุษย์ยืนยันประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ได้แก่ การลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในกระแสเลือด, การลดระดับความดันโลหิต, การป้องกันความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดหัวใจและการลดการปวดข้อและข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
มาทำความรู้จัก Omega-3 กันก่อนดีกว่า
Omega-3 fatty acids เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่จำเป็นต่อการทำงานของสมองและร่างกาย แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เอง จึงจำเป็นต้องรับประทานเข้าไปแทน โดย Omega-3 fatty acids แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
- กรดไขมัน แอลฟา – ไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic acid: ALA) เป็นกรดไขมันเริ่มต้น พบได้ในน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันคาโนลา ถั่วเหลือง น้ำมันวอลนัท ที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนรูปนำไปสังเคราะห์ให้เกิด EPA และ DHA ต่อไป
- กรดไขมัน ดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid: DHA) เป็นกรดไขมันที่มีความสำคัญในการพัฒนา และทำหน้าที่ของระบบประสาท และระบบสมอง เพราะเป็นส่วนประกอบของเซลล์สมองถึง 65% แถมยังเป็นส่วนประกอบหลักของเซลล์จอประสาทตา พบได้ในปลาที่มีไขมัน อาหารทะเล และสาหร่าย
- กรดไขมัน อีพีเอ (Eicosapentaenoic acid: EPA) ที่ช่วยลดการอักเสบต่าง ๆ ของร่างกาย และช่วยลดความเครียด พบได้ในปลาที่มีไขมันและอาหารทะเล
น้ำมันปลาและน้ํามันตับปลา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
น้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา ทั้ง 2 ตัวนี้ถือเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 เหมือนกัน แต่จะมีความแตกต่างในเรื่องปริมาณของ EPA และ DHA และส่วนประกอบอื่นๆ ดังนี้
- น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) : เป็นน้ำมันที่สกัดจากตับของปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาทะเล ซึ่งจะมีปริมาณ EPA อยู่ประมาณ 9% และมีปริมาณ DHA อยู่ประมาณ 14% นอกจากนี้น้ำมันตับปลายังมีวิตามินเอ ที่สามารถช่วยบำรุงสายตา และวิตามินดี ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้นอีกด้วย
- น้ำมันปลา (Fish oil) : เป็นน้ำมันที่สกัดจากเนื้อของปลาทะเล มีปริมาณ EPA อยู่ที่ 18% และมีปริมาณ DHA อยู่ที่ประมาณ 12%
ปริมาณ EPA + DHA ที่ควรรับประทานต่อวัน
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสาธารณสุขของหลายๆ ประเทศ ได้แนะนำให้รับประทาน DHA และ EPA คือ วันละ 300-500 มิลลิกรัม สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี ที่ไม่มีประวัติการเป็นโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ส่วนขนาดการรับประทานสำหรับเด็กเล็กนั้นยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนระบุไว้ ซึ่งน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาทั่วไป จะมีปริมาณอยู่ที่ 1000 มิลลิกรัมต่อแคปซูล โดยมีปริมาณของ DHA และ EPA แตกต่างกันออกไปตามแต่ละผลิตภัณฑ์
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ และข้อควรระวัง
- เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออก เนื่องจากสาร omega-3 ในน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลามีคุณสมบัติในการต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดและทำให้เลือดหยุดไหลช้าลงได้ ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังการรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มสุรามากๆ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน หรือ วาร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานน้ำมันปลา ก่อนถึงวันผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน และควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดให้ทราบว่าตนเองรับประทานน้ำมันปลา หรือน้ำมันตับปลาอยู่
- อาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับขนาดของการรับประทานน้ำมันปลา แก้ไขได้โดยรับประทานหลังอาหารทันทีและเริ่มรับประทานน้ำมันปลาในขนาดต่ำๆ ก่อน
- ความดันโลหิตต่ำลง ควรระมัดระวังในการรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ หรือ ผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่ เนื่องจากอาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ (hypotension) ได้
- ระดับไขมันชนิด LDL (ไขมันชนิดไม่ดี) ในกระแสเลือดอาจเพิ่มขึ้น
- ผู้ที่รับประทานน้ำมันตับปลาในปริมาณมากๆ อาจเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากวิตามิน A และ D ได้
- คนที่แพ้ปลาทะเลหรืออาหารทะเลห้ามรับประทาน
แต่อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถนำมารักษาโรคได้ และไม่สามารถรับประทานแทนอาหารได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายยังเป็นสิ่งที่จำเป็น และเพื่อความปลอดภัย หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนรับประทานทุกครั้งจะดีที่สุดค่ะ
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : คณะเภสัชศาสตร์ ม. มหิดล, Cod Liver Oil VS Fish Oil