ทำไมการรับประทานฟ้าทะลายโจรจึงควรระวังในผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน

โดย Boontharika Boonchaisaen

ยุคโควิด19ระบาดแบบนี้ เชื่อว่าหลายครอบครัวนอกจากจะมียาพาราเซตามอลติดไว้ไม่ขาดแล้ว ยาที่จะต้องมีไว้เป็นยาประจำบ้านอีกตัว นั่นคงหนีไม่พ้น “ยาฟ้าทะลายโจร” กันอย่างแน่นอน และแอบได้ยินแว่วๆมาว่าร้านยาหลายๆร้านตอนนี้ก็ขายกันหมดเกลี้ยงไปแล้ว เพราะมักจะมีลูกค้าแวะมาเรียกหายาฟ้าทะลายโจรกันไม่เว้นแต่ละวัน…

 

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้เพิ่มยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร และยาจากผงฟ้าทะลายโจร เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 ตามประกาศในราชกิจจจานุเบกษา เพื่อให้เป็นยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย

เนื่องจากมีการวิจัยฟ้าทะลายโจรกับไวรัสโควิด-19 เป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเริ่มต้นวิจัยเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค โดยที่ยังไม่มีอาการเพราะไม่มีผลในการป้องกัน

มาทำความรู้จักกับฟ้าทะลายโจรกันก่อนดีกว่า

ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย “ฟ้าทะลายโจร” จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone ได้แก่ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide), สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) และ 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทยใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกันอย่างแพร่หลาย มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก พบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี

ผู้ใดที่ควรได้รับยาฟ้าทะลายโจร

ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรได้แนะนำว่า ผู้ที่ควรได้รับยาฟ้าทะลายโจร มีดังนี้

  1. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย
  2. ผู้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ครั่นเนื้อตัว
  3. ผู้เสี่ยงสูง สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด

โดยการรับประทานยาฟ้าทะลายโจร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้แนะนำว่า ให้รับประทานทันทีเมื่อเริ่มมีอาการคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (flu-like symptoms) ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจอื่น ซึ่งขนาดการใช้ยาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ

  • แบบผงฟ้าทะลายโจร ขนาด 350-400 mg/แคปซูลหรือเม็ด ให้รับประทานครั้งละ 4 แคปซูลหรือเม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน (ได้ปริมาณผงยาประมาณ 6000 mg/วัน)
  • แบบสารสกัดฟ้าทะลายโจร ขนาด 9-10 mg/แคปซูลหรือเม็ด ให้รับประทานครั้งละ 2 แคปซูลหรือเม็ด หรือ ขนาด 20 mg ให้รับประทานครั้งละ 1 แคปซูลหรือเม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร (ได้ปริมาณผงยาประมาณ 60 mg/วัน)

ขอบคุณภาพจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ซึ่งการรับประทานยาทั้งสองแบบในขนาดที่แนะนำนี้ จะให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) ประมาณ 60 มิลลิกรัมต่อวันเหมือนกัน

แต่อย่างไรก็ตาม หากใช้ยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 5 วัน แล้วไม่หาย หรือขณะใช้ยามีอาการรุนแรงขึ้น หรืออาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้น หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ให้หยุดทานยาฟ้าทะลายโจรทันทีและรีบไปพบแพทย์

ผู้ป่วยกลุ่มใดที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาฟ้าทะลายโจร

กลุ่มผู้ป่วยที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ มีดังนี้

  1. กลุ่มผู้ป่วยตับอักเสบ
  2. ผู้ป่วยไตวายระยะ 4-5
  3. ผู้ใช้ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล และยาลดความดันโลหิต

นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร หรือกำลังตั้งครรภ์และอยู่ระหว่างให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปได้

ทำไมการรับประทานฟ้าทะลายโจรจึงควรระวังในผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน

คำตอบ คือ ยาวาร์ฟารินหรือที่หลายคนเรียกว่ายาละลายลิ่มเลือด เป็นยาที่ต้องผ่านกระบวนการเมแทบอลิซึมหรือการเปลี่ยนแปลงยา ก่อนจะผ่านกระบวนการขับออกจากร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงยานี้ต้องผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) โดยส่วนใหญ่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นที่ตับ

ซึ่งฟ้าทะลายโจร จะไปยับยั้งการทำงานหรือลดจำนวนของเอนไซม์ ส่งผลให้ลดการเปลี่ยนแปลงยาวาร์ฟาริน จึงส่งผลให้ยาอยู่ในร่างกายได้นานมากขึ้น และทำให้ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น อาจเกิดผลข้างเคียงที่มากขึ้นได้นั่นเอง

ดังนั้น หากผู้ป่วยรับประทานยาวาร์ฟารินร่วมกับฟ้าทะลายโจร อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้  และนอกจากฟ้าทะลายโจรแล้ว ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่อาจเกิดอันตรกิริยาร่วมกันกับยาวาร์ฟารินได้ ยกตัวอย่างเช่น ขิง ขมิ้นชัน ชะเอมเทศ แปะก๊วย โสม เป็นต้น

จึงแนะนำว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย หากต้องการรับประทานยาฟ้าทะลายโจร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานะคะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องยาวาร์ฟารินได้ ที่นี่ 

แหล่งที่มา : Hfocus, BBC Newsคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยแพทย์ทางเลือก, อันตรกริยาของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับยาแผนปัจจุบัน

Facebook Comments

You may also like