การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต

โดย Boontharika Boonchaisaen

ช่วงนี้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกมาสู่ท้องตลาดหลากหลายยี่ห้อ ทำเอาเลือกกันไม่ถูกเลยว่าจะซื้อยี่ห้อไหน และเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา วารสาร Annals of internal medicine ได้ตีพิมพ์การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับการลดอัตราการเสียชีวิต ว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่

การศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับการลดอัตราการเสียชีวิต

การศึกษานี้มีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งสิ้น 30,899 คนเป็นประชากรผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป ศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาทุกคนต้องผ่านการตอบแบบสอบถามเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก่อน

ทำการศึกษาโดยให้ผู้เข้าร่วมรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและอาหาร การศึกษานี้ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ค.ศ.1999 ถึง 2010 ประมาณ 11 ปี โดยใช้ข้อมูลร่วมกับ National Death Index mortality data ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะวัดจากอัตราการตายจากทุกสาเหตุที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง

ผลการศึกษาพบว่า…

มีผู้เข้าร่วมการศึกษาเสียชีวิต 3,613 ราย โดยเสียชีวิต 945 ราย จากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) และเสียชีวิต 805 ราย จากโรคมะเร็ง (Cancer)และไม่พบความสัมพันธ์กันระหว่างการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับการลดอัตราการเสียชีวิต แต่พบอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าจากทุกสาเหตุรวมถึงจากโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ และไม่ได้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมด้วย

รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไรให้ถูกต้อง

จากการศึกษาดังกล่าวอาจทำให้เห็นว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของร่างกาย และไม่ได้ช่วยรักษาโรคหรือทำให้ลดการเสียชีวิตลงได้ ซึ่งผู้บริโภคต้องระลึกเสมอว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา และบางประเภทอาจมีข้อจำกัดในการบริโภค โดยมีการกำหนดรายละเอียดในการบริโภคที่ฉลาก ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ดีก่อนเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยกตัวอย่างเช่น

  1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีความจำเป็น และมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่ หากผู้บริโภคได้รับสารอาหารครบถ้วนจากการรับประทานอาหารในแต่ละวันแล้ว ก็อาจไม่มีความจำเป็นในการบริโภคเพิ่มเข้าไปอีก บางครั้งจะต้องพิจารณาควบคู่กับงานวิจัย และผลการทดลองที่น่าเชื่อถือ หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกรร่วมด้วย
  2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้พิจารณารับรองความปลอดภัย และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นหรือไม่
  3. ราคาเหมาะสมหรือไม่ หรืออาจอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพื่อเพิ่มราคาผลิตภัณฑ์นั้นให้สูงขึ้น

นักวิชาการสหรัฐอเมริกาได้ให้คำแนะนำว่า ประชาชนทั่วไปควรได้รับสารอาหารที่เพียงพอจากการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน หรือครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี มากกว่าการให้ความสนใจในการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพียงอย่างเดียว ยกเว้นผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ตั้งใจ ยกตัวอย่างเช่นมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแอ รู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา เป็นต้น แพทย์อาจพิจารณาว่าจำเป็นต้องให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมด้วย

แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : The Annals of Internal MedicineHealio Primary care today

Facebook Comments

You may also like