รู้ได้อย่างไร ว่ายาตัวไหนใช้ได้ หรือห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

โดย Boontharika Boonchaisaen
Preg Features

รู้มั้ยคะว่า เหตุผลที่เภสัชกรมักจะถามสาวๆที่ไปซื้อยาที่ร้านยา หรือรับยาที่โรงพยาบาลว่า “คุณตั้งครรภ์หรือเปล่า?” เพราะอะไร .. บางคนอาจจะรู้สึกไม่พอใจคิดว่า ถามแบบนี้เพราะคิดว่าฉันอ้วนรึป่าว? เภสัชกรขอบอกตรงนี้เลยค่ะว่า พวกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำให้คุณสาวๆรู้สึกเช่นนั้น แต่ที่ต้องถามไปเพราะว่า “เป็นห่วง” นะคะ เพราะหากคุณสาวๆตั้งครรภ์จริง ๆ แล้วลืมแจ้งคุณหมอ อาจทำให้คุณหมอสั่งยาที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

pregnant

ดังนั้น อย่าลืมแจ้งแพทย์ทุกครั้ง หากคุณตั้งครรภ์ เพราะยาที่คุณได้ อาจเป็นอันตรายต่อทารกค่ะ

ยาส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้อย่างไร

pills

โดยทั่วไปเรามักทราบกันว่ารกจะมีหน้าที่ส่งผ่านสารอาหารและออกซิเจนจากแม่ไปสู่ทารกและช่วยในการนำของเสียจากทารกกลับมาสู่แม่ และรกยังช่วยสังเคราะห์สารต่างๆที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์เช่นฮอร์โมนเพปไทด์(peptide hormone)และสเตียรอยด์(steroid hormone) อีกทั้งยังสามารถปกป้องทารกได้ด้วยการลดการผ่านของสารแปลกปลอมหลายชนิดจากแม่ไปสู่ทารกได้

แต่ทราบหรือไม่ว่า ยาเกือบทุกชนิดที่ให้ในขณะตั้งครรภ์นั้นสามารถผ่านรกได้เช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ ช่วงอายุครรภ์ที่ได้รับยา, ชนิดและปริมาณของยารวมทั้งการได้รับยาอื่นร่วมด้วย

ช่วงอายุครรภ์ที่ได้รับยา

ช่วงอายุครรภ์ท่ีได้รับยา มีผลต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ รวมถึงลักษณะและความรุนแรงของความผิดปกติท่ีอาจเกิดขึ้น โดยได้แบ่งออกพัฒนาการของทารกในครรภ์ออกเป็น 3 ช่วง คือ

  • Pre-embryonic period เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงประมาณ2สัปดาห์หลังปฏิสนธิ ซึ่งหากนับตามอายคุรรภ์คือช่วงอายคุรรภ์ประมาณ2สัปดาห์จนถึง4สัปดาห์(อายุครรภ์เร่ิมนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนท่ีจะตั้งครรภ์) การสัมผัสกับยาในช่วงนี้ จะมีผลในลักษณะ all-or-none effect คือมีการทำลายเซลล์อย่างมากจนเป็น สาเหตุให้เกิดการแท้ง หรือมีการทำลายเซลล์เพียงเล็กน้อยซึ่งเซลล์ที่เหลืออยู่สามารถสร้างทดแทนได้ทำให้ไม่เกิดความผิดปกติใดๆ
  • Embryonic period คือ ช่วงระหว่าง 3-8 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ(อายคุรรภ์ประมาณ5-10สัปดาห์) การที่ตัวอ่อนสัมผัสกับยาในช่วงนี้จะทำให้เกิด major malformations (ความผิดปกติทางโครงสร้างที่อาจทำให้เสียชีวิต, ลดช่วงการมีชีวิต, ลดความสามารถในการทำหน้าที่ของอวัยวะ, ทำให้เกิดโรค หรือมีผลต่อความสวยงามซึ่งต้องการการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด เช่น แขนขากุด, ปากแหว่งเพดานโหว่, ความผิดปกติของหัวใจโดย ขึ้นกับว่ามารดาได้รับยาในช่วงที่มีการสร้างอวัยวะใด)
  • Fetal period คือ ช่วงหลังจาก embryonic period จนถึงครบกําหนดคลอด หรืออาจเรียกว่า เป็นช่วงไตรมาสที่2และ3ของการตั้งครรภ์ ผลของยาต่อทารกในระยะนี้อาจทำให้การทำงานของอวัยวะบกพร่อง, การเจริญเติบโตผิดปกติ หรือทำให้เกิด minor malformations (ความผิดปกติทางโครงสร้างที่ไม่ต้องการการรักษาใดๆ และมีผลน้อยต่อลักษณะภายนอกท่ีปรากฏออกมา เช่น นิ้วโก่ง ลิ้นมีขนาดเล็กกว่าปกติ)
period of pregnant

ผลของteratogenหรือการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ต่อการพัฒนาอวัยวะของตัวอ่อนหรือทารกในแต่ละช่วงอายุครรภ์แถบสีเข้มแสดงช่วงเวลาที่อวัยวะนั้นๆ มีความไวสูงต่อteratogen จุดกลมสีดำบนตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ในช่วง embryonic period และ fetal period บ่งชี้ถึงตำแหน่งที่มักได้รับผลกระทบจาก teratogen ในช่วงเวลาต่างๆ

ระบบการแบ่งกลุ่มยาตามความเสี่ยงสําหรับการใช้ในสตรีมีครรภ์(Pregnancy Category)

ระบบการแบ่งกลุ่มยาตามความเสี่ยงสำหรับการใช้ในสตรีมีครรภ์นั้นได้แบ่งโดยพิจารณาถึงผลของยา ท่ีอาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ผ่านการทดลองทั้งในทางคลินิกและในสัตว์ทดลอง มีอยู่หลายระบบด้วยกัน ในบทความนี้ทีมงานขอพูดถึงเฉพาะระบบของ FDA (US Food & Drug Administration) นะคะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้ค่ะ

  • ระดับ A จากการศึกษาในคนพบว่าไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น ยาเลโวไทรอกซีน(levothyroxine), กรดโฟลิก(folic acid), ยาไลโอไทโรนีน(liothyronine)
  • ระดับ B จากการศึกษาในสัตว์ทดลองไม่พบว่ามีอันตรายต่อลูกสัตว์ในครรภ์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในคน หรือมีข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ของสัตว์ แต่จากการศึกษาในคนพบว่าไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น ยาเมทฟอร์มิน(metformin), ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์(hydrochlorothiazide), ยาอะม็อกซีซิลลิน(amoxicillin), ยาแพนโทพราโซล(pantoprazole)
  • ระดับ C จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลกระทบต่อลูกสัตว์ในครรภ์ แต่ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาในคน หรือยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทั้งในคนและในสัตว์ทดลอง ยกตัวอย่างเช่น ยาทรามาดอล(tramadol), ยากาบาเพนติน(gabapentin), ยาแอมโลไดปีน(amlodipine), ยาทราโซโดน(trazodone)
  • ระดับ D จากการศึกษาในคนพบว่ามีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ แต่มีประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยา จึงยังเป็นที่ยอมรับได้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น ยาลิซิโนพริล(lisinopril), ยาอัลพราโซแลม(alprazolam), ยาลอซาร์แทน(losartan), ยาโคลนาซีแพม(clonazepam), ยาลอราซีแพม(lorazepam)
  • ระดับ X จากการศึกษาในคนพบว่ามีอันตรายต่อทารกในครรภ์

Pregnancy Category

ซึ่งบางโรงพยาบาลที่ฉลากยา อาจมีตัวอักษรเล็กๆ แสดงไว้ เพื่อช่วยเตือนหรือบ่งบอกว่า ยาที่คนไข้ได้รับนั้น อยู่ใน Pregnancy Category หรือมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ระดับไหนนั่นเอง

ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ (ระดับ X)

drugs_cat x

ขอบคุณข้อมูลจาก งานพัฒนาบริการและเภสัชสนเทศ(DIS)กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพัทลุง

หลักการอื่นที่ควรพิจารณาการเลือกใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์Drug Use In Pregnancy

การเลือกใช้ยาในสตรีมีครรภ์ นอกจากพิจารณาความปลอดภัยของยาต่อทารกในครรภ์ตาม Pregnancy Category แล้ว อาจต้องคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้

  • ควรเลือกวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาก่อน ถ้าไม่ได้ผลจึงพิจารณาใช้ยา แต่ควรควบคู่ไปกับการรักษาโดยไม่ใช้ยา เพื่อใช้ยาให้น้อยที่สุด
  • เลือกใช้ยาที่มีข้อมูลความปลอดภัยมากที่สุด โดยประเมินระหว่างประโยชน์ของยาที่จะได้รับกับความเสี่ยงของยาต่อทารกในครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือใช้ยาให้น้อยที่สุดในระหว่างการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
  • ใช้ยาในขนาดต่ำที่สุดที่ให้ผลการรักษา และใช้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาหลายชนิดพร้อมกันรวมท้ังหลีกเลี่ยงการใช้ยาสูตรผสม

จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมา การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะคนไข้กลุ่มนี้เป็นคนไข้กลุ่มพิเศษ ดังนั้น การเลือกใช้ยาแต่ละครั้งจึงควรให้แพทย์เป็นคนพิจารณาใช้ยาที่เหมาะสมเป็นรายๆไปนะคะ

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : drugs.com, คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลยัศรีนครินทรวิโรฒ

Facebook Comments

You may also like