อันตรายจากยาเฟนเทอร์มีน(Phentermine)ในยาลดความอ้วน

โดย Boontharika Boonchaisaen
Features Obesity Drugs

ช่วงนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตามหน้าfeedของเฟสบุคเต็มไปด้วยการขายของไม่ว่าจะขายครีม ขายผ้าห่ม ขายชุดชั้นในหรือแม้แต่ขายยาลดน้ำหนัก และวันก่อนไปอ่านเจอเฟสบุคของหญิงสาวคนหนึ่งที่เธอโพสต์เกี่ยวกับการรีวิวอันตรายจากยาลดน้ำหนัก น่าสนใจดีเลยคลิกเข้าไปอ่าน พบว่าเป็นข้อมูลที่สาวๆหลายคนควรอ่านเลยทีเดียว เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ สำหรับสาวคนไหนที่อยากสวยทันใจ แต่ไม่อยากเสียเหงื่อออกกำลังกายนั่นเองค่ะ

Fb Page

ขอบคุณภาพข่าวจาก Facebook

เรื่องราวของหญิงสาวคนนี้คือ เธอมีความพยายามที่อยากลดต้นขา เลยคิดแค่ว่า “ถ้าน้ำหนักลดลงไปเท่าๆเดิม รูปร่างมันคงจะลดตามลงไปเอง” ด้วยความขี้เกียจไปออกกำลังกาย และใจร้อนอยากผอมไวไว เธอจึงตัดสินใจลองใช้ยาลดน้ำหนัก กินมาประมาณ 7 วัน เธอมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วมาก และเริ่มรู้สึกชาตามเท้า มือ และหลังลามขึ้นมาถึงหัวไหล่ ท้ายทอย หูและศีรษะ และอยู่ดีๆเธอก็เกิดอาการหูดับ ทันใดนั้นเธอรู้สึกตกใจมาก จึงบอกให้แฟนพาไปหาหมอที่รพ. ผลสรุปสาเหตุของอาการที่เธอเป็น พบว่า

เกิดจากอาหารเสริมลดน้ำหนักที่เธอทานนั่นเองค่ะ เนื่องจากในอาหารเสริมนั้นมีส่วนผสมของเจ้ายา phentermine, ยาไทรอยด์ฮอร์โมน, ยาขับปัสสะวะ และยาระบาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย

แล้วสงสัยมั้ยคะว่า ทำไมถึงต้องผสมส่วนประกอบเหล่านั้นลงไปในอาหารเสริมลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนด้วย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาลดความอ้วนและอาหารเสริมลดน้ำหนัก

Obesity drugsจากข้อมูลของกองควบคุมวัตถุเสพติดพบว่า “อาหารเสริมลดน้ำหนัก” หรือ “ยาลดความอ้วน” มักจะประกอบไปด้วยยาหลายชนิดเพื่อช่วยเสริมฤทธิ์ในการลดน้ำหนัก ซึ่งยาเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้หากมีการใช้ผิดวิธี เช่น

  • ยาขับปัสสาวะ ช่วยลดน้ำหนักโดยทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลงเท่านั้น ซึ่งผลเสียคือ ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุที่จำเป็นในการทำงานของร่างกายออกไปกับปัสสาวะด้วย ทำให้มีอาการผิดปกติของหัวใจและสมองซึ่งทำให้หัวใจวายหรือหมดสติได้
  • ยาไทรอยด์ฮอร์โมน ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย แต่ะมีผลทำให้เพิ่มการทำลายโปรตีนของกล้ามเนื้อ ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
  • ยาลดความอยากอาหารเฟนเทอร์มีน(phentermine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและมีผลทำให้เกิดอาการติดยาได้ ดังนั้นจึงถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งต้องมีการควบคุมการซื้อขายไว้สำหรับโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อจ่ายให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสมแล้วเท่านั้นซึ่ง phentermine มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคอ้วนโดยตรงแต่ให้ใช้ในระยะสั้นเท่านั้น เช่น ไม่ควรเกิน 3-6 เดือน
  • ยาระบาย เป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่บีบตัวไล่อุจจาระที่สะสมอยู่ออกทิ้งไป จึงมีฤทธิ์ช่วยการระบายอุจจาระเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการลดการดูดซึมอาหารหรือลดความอ้วนหรือลดไขมันที่สะสมบริเวณท้องหรือพุงได้แต่อาจจะส่งผลบ้างเล็กน้อยต่อน้ำหนักตัวที่ลดลงตามน้ำหนักของอุจจาระที่ถ่ายทิ้งออกไปจากร่างกาย

อันตรายจากยาเฟนเทอร์มีน(phentermine)ในยาลดความอ้วน

ยาเฟนเทอร์มีน (phentermine) ถูกประกาศเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2536 ประชาชนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจะต้องมาพบแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น 

ยาเฟนเทอร์มีน (phentermine) เป็นยาลดความอ้วนที่ใช้เสริมกับวิธีการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยยาเฟนเทอร์มีน (phentermine) จะทำหน้าที่ลดการทำงานของศูนย์ควบคุมความหิวบริเวณด้านข้างของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำให้มีการเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท 2 ชนิด คือ นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine,NE) และ โดปามีน(dopamine,DA)ที่สมอง จึงมีผลทำให้ลดความอยากอาหารลงอย่างมาก

obesity_mechanism6 Gr1

ขอบคุณภาพจากhttp://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0026049515002206

และสารสื่อประสาทเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความอยากอาหารแล้ว ยังส่งผลกระทบอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพชีวิตได้ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ กระวนกระวาย มีอาการเคลิ้มฝัน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นสีผิดปกติไปจากเดิม และผลจากการเพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อจิตประสาท เช่น หงุดหงิด หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน และเกิดอาการติดยาได้

นอกจากนี้ กรณีที่หยุดรับประทานยาผิดวิธีอาจทำให้เกิดภาวะถอนยาได้  ซึ่งอาการถอนยาที่เกิดขึ้น ได้แก่ มีอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึม ไม่มีแรง ซึมเศร้า และหลับเป็นเวลานาน

ใช้ยาเฟนเทอร์มีน(phentermine)อย่างไรให้ถูกต้อง

Phentermine Close Up

ขอบคุณภาพจากhttp://irevivenashville.com

  • แพทย์ต้องเป็นผู้ที่สั่งจ่ายเท่านั้น และยานี้ห้ามจำหน่ายในร้านยา
  • แพทย์ควรประเมินว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นจะต้องได้รับยาลดความอ้วนหรือไม่ โดยอ้างอิงตามเกณฑ์ข้อบ่งใช้ของยาลดความอ้วน คือ
    • BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
    • BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงผิดปกติ

BMI

การแบ่งระดับโรคอ้วน

การแบ่งระดับโรคอ้วน โดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว และการเกิดโรคร่วม

  • ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการใช้ยาลดความอ้วน ผู้ป่วยต้องไม่มีข้อห้ามของการใช้ยาเฟนเทอร์มีน(phentermine)เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดอุดตัน, โรคต้อหิน (glaucoma), ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกิน, ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการใช้ยาในทางที่ผิด, ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคจิต หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ และผู้ป่วยที่กำลังได้รับยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitors (MAOI) หรือเคยได้รับ  MAOI  มาก่อนหน้านี้ไม่เกิน  14  วัน
  • ควรเริ่มด้วยขนาดยาต่ำๆ ก่อน เช่น 7.5 mg ในตอนเช้าเพราะถ้าใช้ยาในช่วงกลางวันอาจทำให้นอนไม่หลับได้ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มขนาดยาขึ้นเป็น 15 mg
  • มีการติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
  • ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน เพราะมีโอกาสทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
  • ต้องระวังปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้กับยาเฟนเทอร์มีน(phentermine)
    เช่น ยาฟีนิลโพรพาโนลามีน(phenylpropanolamine), ยาทรามาดอล(Tramadol),  ยาเซเลกิลีน(Selegiline), ยาฟลูออกซิทีน(Fluoxetine) เป็นต้น

การใช้ยาลดความอ้วนให้ปลอดภัยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และหากอยากลดความอ้วนด้วยตัวเอง แนะนำวิธีที่ยั่งยืนคือ การลดปริมาณอาหารลงให้ใกล้เคียงกับความต้องการในการใช้พลังงานของร่างกายร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่า อาจจะช้าแต่ก็ชัวร์และปลอดภัยนะคะ

อ่านวิธีลดน้ำหนักและทำให้สุขภาพดีเพิ่มเติมได้ที่นี่

Obesity

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : drugs.com, การดูแลผู้ป่วยโรคอ้วนในเวชปฏิบัติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Facebook Comments

You may also like