ช่วงนี้กระแสเรื่องยาปฏิชีวนะกำลังมาแรง ล่าสุดอ่านเจอเรื่องหนึ่งจากเพจ Drama-addict เขียนว่า
ถึงกับหัวร้อน เมื่อมีคนส่งข้อมูลมาให้ว่า รพ เอกชนแห่งนึง จ่ายยาฆ่าเชื้อให้คนไข้แล้วแปะชื่อว่า เป็น “ยาแก้อักเสบ”
(ขอบคุณภาพจากเพจ Drama-addict)
ทำให้นึกถึงเหตุการณ์หนึ่ง ณ ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก ที่เจอมากับตัวเอง เรื่องมีอยู่ว่า…
เภสัชกร : คุณยายเคยมีประวัติแพ้ยามั้ยคะ?
คนไข้ : มีจ้าคุณหมอ ยายแพ้ยาแก้อักเสบ (ยายอดฮิตติดอันดับการแพ้ยา เวลาซักประวัติคนไข้)
เภสัชกร : ยาแก้อักเสบตัวไหนคะ คุณยายพอจะจำชื่อได้มั้ย?
คนไข้ : ยายจำได้เลือนลางว่า คนขายบอกชื่อ “เพนนิซิลิน” ค่ะคุณหมอ
เภสัชกร : คุณยาย เพนนิซิลินไม่ใช่ยาแก้อักเสบนะคะ มันเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แล้วเวลาคุณยายมีไข้ ปวดขา คุณยายกินยาอะไร
คนไข้ : ก็กินยาแก้ไข้ ยาแก้ปวดจ้า
เภสัชกร : ยาแก้ปวด ลดไข้ พวกนั้นมันเป็นยาแก้ปวดลดอักเสบ แต่ถ้าเพนนิซิลินน่ะ มันคือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนะคะยาย ไม่ใช่ “ยาแก้อักเสบ” คราวหลังไปร้านยา ควรเลือกร้านที่มีเภสัชกรประจำอยู่นะคะ เพราะคุณยายจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องค่ะ
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ “ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หรือ บางคนอาจจะคุ้นกันในชื่อ “ยาปฏิชีวนะ” กันดีกว่าค่ะ 🙂
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) คืออะไร?
“ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)” เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง
ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) คืออะไร?
ส่วน “ยาแก้อักเสบ” หรือ “ยาต้านการอักเสบ” (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรี
แต่คนไข้มักเคยชิน กับการเรียก “ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” ว่า “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรในการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นความเคยชินหรือเรียกต่อๆกันมา แต่ไม่น่าเกินความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะสอนหรือแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้กับคนไข้ อาจต้องใช้ความพยายามหรือต้องพูดบ่อยหน่อย แต่ก็เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของคนไข้นะคะ และที่สำคัญการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ควรสั่งใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมหรือกินพร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา หรือโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง เป็นอันตรายถึงชีวิตได้นะคะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยา ปี พ.ศ. 2555