รู้หรือไม่? แมวของคุณอาจตายได้ ถ้าให้กินยาพาราเซตามอล

โดย Boontharika Boonchaisaen
Paracetamol_Feature

วันนี้ทีมงานอยู่กับยามีเรื่องราวดีๆ มาเอาใจคนรักน้องหมา น้องแมวกันหน่อย.. เคยสงสัยกันมั้ยคะว่า ทำไมแมวกินยาพาราเซตามอลแล้วถึงตาย แล้วทำไมคนกินยาพาราเซตามอลกลับไม่เห็นเป็นอะไรเลย ทั้งๆที่กินในขนาดเท่ากัน?

งั้นเรามาหาคำตอบไปพร้อมกันๆกันเลยดีกว่าค่ะ…

พาราเซตามอล(Paracetamol)คืออะไร

Paracetamol

น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “ยาพาราเซตามอล” ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่มีใช้กันแทบทุกบ้าน สรรพคุณของยาพาราเซตามอล(Paracetamol หรือ Acetaminophen)คือช่วยระงับปวดและลดไข้ ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ตั้งแต่ พ.ศ.2436 และใช้กันอย่างแพร่หลายในคน เนื่องจากมีข้อดีกว่าแอสไพรินตรงที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร และไม่มีผลต่อการเกาะตัวของเกล็ดเลือด(platelets) จึงไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและไม่ทำให้การแข็งตัวของเลือดเสียไป แต่อย่างไรก็ตามพาราเซตามอลไม่มีผลในการลดอักเสบเหมือนแอสไพริน จึงไม่สามารถใช้ในการลดการอักเสบของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือข้ออักเสบได้

ขนาดยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมในคน

Paracetamol_label

USFDA หรือองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำในการปรับลดขนาดยาพาราเซตามอล ที่ใช้แต่ละครั้งไม่ให้เกิน 650 มิลลิกรัม และขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 2,600 มิลลิกรัม เพื่อลดความเสี่ยงของการที่ผู้บริโภคใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดโดยไม่ตั้งใจ รวมถึงเป็นขนาดที่แนะนำในกรณีที่ผู้บริโภคมีความไวต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับด้วย ดังนั้นแต่ละครั้งควรบริโภคไม่เกิน 1 เม็ด(ขนาด 500 มิลลิกรัม) ทุก 6 ชั่วโมง และไม่ควรใช้นานติดต่อกันเกิน 5 วัน เนื่องจากจะเพิ่มความเป็นพิษต่อตับ

กลไกการเกิดพิษของยาพาราเซตามอล

ก่อนอื่นต้องเกริ่นให้เข้าใจถึงขั้นตอนการจัดการของร่างกาย เวลาที่เรากินยาแต่ละตัวเข้าไป มีด้วยกัน 4 ขั้นตอนดังนี้

  • การดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย (absorption)
  • การกระจายตัวของยา (distribution)
  • การเปลี่ยนแปลงยา (metabolism)
  • การขับถ่ายยาออกจากร่างกาย (excretion)

และขั้นตอนที่เกี่ยวกับการเกิดพิษจากยาได้นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงยา(metabolism) ซึ่งขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นมากที่ตับ

Acetaminophen Metabolism

ขอบคุณภาพจาก wikipedia.org

สำหรับ paracetamol ก็เช่นกัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ โดยส่วนใหญ่ของยาจะทำปฏิกิริยา conjugate กับ glucuronide และ sulfate ในร่างกาย เกิดเป็นสารที่ไม่มีพิษ(nontoxic) แล้วขจัดออกจากร่างกาย ส่วนน้อยของยาจะถูกเปลี่ยนแปลง(metabolized)โดยเอนไซม์ cytochrome P-450 system เกิดเป็นสารที่เกิดพิษ(toxic metabolite) คือ N-acetyl-p-benzoquinoneimine(NAPQI) แต่ในร่างกายยังมี glutathione ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็น reducing agent คือช่วยป้องกันสารพิษโดยไปจับกับ paracetamol ที่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะ

ดังนั้น ถ้าร่างกายยังมี glutathione เพียงพอสารที่เกิดพิษ(toxic metabolite) นี้จะถูกขจัดออกไปได้ จึงไม่เกิดพิษจากยา แต่ถ้าในภาวะที่ได้รับ paracetamol เกินขนาด แม้ว่าส่วนหนึ่งของยาจะถูกขจัดออกไปแล้ว แต่ส่วนที่เหลือก็ยังถูกเปลี่ยนเป็นสารที่มีพิษ(toxic metabolite) จำนวนมากจนเกินที่ glutathione จะป้องกันได้หมด ผลที่ตามมาก็คือจะมีสารที่เกิดพิษ(toxic metabolite) จำนวนมากจนทำให้เกิดเป็นพิษต่อร่างกายหรือต่อตับขึ้นได้นั่นเองค่ะ

ทำไมแมวกินยาพาราเซตามอลถึงตาย

Cat

เหตุผลที่ทำไมแมวกินยาพาราเซตามอลถึงตาย อาจเนื่องมาจาก

  • แมวมี enzyme UDT (enzyme uridine diphosphate-glucurosyl transferase)ในตับที่ช่วยเปลี่ยนแปลงยาให้เป็นสารไม่มีพิษ(nontoxic)ต่ำมาก
  • แมวมีอัตราการขจัดยาพาราเซตามอลออกจากร่างกายจำกัดมาก โดยมีความสามารถเพียงหนึ่งในสิบของสุนัขเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลการเกิดพิษของยาพาราเซตามอลในสัตว์เลี้ยงรายงานว่าในสุนัข ขนาดของการเกิดพิษอยู่ที่ประมาณ 150-200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว1กิโลกรัม ในขณะที่แมว ขนาดของการเกิดพิษเพียงแค่ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว1กิโลกรัมเท่านั้น
  • ยาพาราเซตามอลจะส่งผลให้เกิดความเป็นพิษต่อเม็ดเลือดแดง(Hemoglobin) ทำให้การขนส่งออกซิเจนลดน้อยลง ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆขาดออกซิเจนได้

Pets

ดังนั้น ในสัตว์เลี้ยงทุกชนิดไม่ควรซื้อยามาให้เอง เนื่องจากยาในคนบางชนิดอาจมีพิษต่อสัตว์ หรือมีผลในการรักษาไม่เหมือนในคน ทั้งปริมาณยาที่ให้อาจมากหรือน้อยเกินไป และอาจส่งผลให้สัตว์ดื้อยาหรือเสียชีวิตได้ จึงควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนให้น้องหมาหรือน้องแมวกินยาทุกครั้งนะคะ

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : Atlantic Animal Hospitalศูนย์เภสัชสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Facebook Comments

You may also like