ขิง สมุนไพรที่อาจช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ได้ แต่ไม่เหมาะสมในผู้ป่วยที่กินยาวาร์ฟาริน

โดย Boontharika Boonchaisaen
Ginger Warfarin

วันก่อนมีผู้ป่วยที่กินยาวาร์ฟารินมาด้วยค่าเลือด(INR) ที่สูงกว่าค่าปกติ (มากกว่า 3) ซึ่งแพทย์ส่งมาปรึกษาว่าสามารถเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง.. จากที่ใช้เวลาคุยกับผู้ป่วยซักพัก จึงทราบว่า อาหารที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำมีส่วนผสมของขิงอยู่ด้วยทุกมื้ออาหาร เนื่องจากลูกสาวของผู้ป่วยกำลังให้นมลูก ซึ่งปัญหาของลูกสาวคือ น้ำนมมาน้อย จึงต้องทำอาหารที่มีขิงผสมอยู่ด้วยให้ลูกสาวกินตลอด ตนจึงต้องกินด้วย

Ginger โดยหารู้ไม่ว่า…

ขิงอาจจะช่วยเพิ่มน้ำนมให้ลูกสาวจริง แต่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดเลือดออกมากผิดปกติได้

ขิง ช่วยเพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ?

Breast feeding

ขิงเป็นสมุนไพรที่ถูกยอมรับจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา(U.S.FDA) ว่าปลอดภัยในแง่ของการใช้เป็นอาหารและยา ทั้งในคนทั่วไปหรือแม้แต่หญิงให้นมบุตร ข้อมูลส่วนใหญ่พบว่าสรรพคุณของขิงมักใช้เพื่อรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์หรือที่เราเรียกกันว่า “อาการแพ้ท้อง” นั่นเอง ซึ่งกลไกลดการคลื่นไส้อาเจียนของขิงเกิดจากสารที่ชื่อว่า 6-gingerol, 8-gingerol, 10-gingerol, 6-shogaol จะไปออกฤทธ์ที่ 5-HT3 receptor ion-channel complex และ cholinergic M receptors ทำให้เร่งการบีบตัวของกระเพาะอาหาร จึงมีผลช่วยลดการคลื่นไส้ อาเจียนในคนท้องได้

ส่วนในแง่ของการเพิ่มน้ำนมในหญิงให้นมบุตรพบว่ามีการศึกษาของไทยเกี่ยวกับการให้ขิงในคุณแม่หลังคลอดจำนวน 63 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้แคปซูลขิงผงขนาด 500 มิลลิกรัมรับประทานวันละ 2 ครั้งตั้งแต่หลังคลอด
กลุ่มที่สอง ได้รับยาหลอก (placebo) แล้วติดตามผลว่า พบว่า กลุ่มแรกที่ได้รับแคปซูลขิง ณ วันที่ 3 น้ำนมมาเร็วกว่า
แต่หลังจากวัด ณ วันที่ 7 ไม่พบความแตกต่างระหว่างทั้งสองกลุ่ม

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ขิง น่าจะสามารถช่วยเร่งน้ำนมมาเร็วขึ้นในช่วงแรกๆที่กินได้ โดยไม่มีรายงานการเกิดอาการข้างเคียง

ทำไมขิงไม่เหมาะสมในผู้ป่วยกินยาวาร์ฟาริน?

เหตุผลที่ผู้ป่วยที่กินยาวาร์ฟารินไม่ควรรับประทานขิง เนื่องจากขิงจะไปมีผลเพิ่มฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกผิดปกติได้มากขึ้น ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การรับประทานขิงหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีขิงผสมอยู่เป็นประจำทุกวัน วันละ 5 กรัมขึ้นไปร่วมกับการกินยาวาร์ฟาริน มีผลทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้มากขึ้น

สมุนไพรอื่นที่เพิ่มฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน

Garlic

และนอกจากขิงแล้ว ยังมีสมุนไพรที่เพิ่มฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินอีกหลายชนิดเช่น กระเทียม ขมิ้นชัน แปะก๊วย วิตามินอี น้ำมันปลา ตังกุย เป็นต้น หากผู้ป่วยที่กินยาวาร์ฟารินร่วมกับสมุนไพรตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงควรติดตามภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะและอุจจาระ, ไอจามมีเลือดปน หรือมีจ้ำเลือดตามผิวหนังให้รีบมาปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา :  PTINR.com, Drugs.com, PubMed

Facebook Comments

You may also like