รู้หรือไม่? อย่าเพิ่งกินยาไอบูโพรเฟน ถ้ายังไม่ทราบสาเหตุของไข้ เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้

โดย Boontharika Boonchaisaen
Ibuprofen Dengue

วันก่อนนั่งอ่านข่าวในเฟสบุค เจอหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจจากเพจดัง ได้เขียนเอาไว้ เล่าถึงกรณีของคุณแม่ท่านหนึ่งที่เห็นลูกเหมือนจะเป็นไข้ จึงให้กินยาไอบูโพรเฟนดักไว้ก่อน แล้วพอไปหาหมอ จึงโดนหมอดุว่าทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเด็กอาจเกิดเลือดออก จนมีโอกาสเสียชีวิตได้… ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่บางคนอาจมองข้ามไป เหมือนกับคุณแม่ท่านนี้

News

ขอบคุณภาพจากเพจ Drama-addict

ทำไมคุณหมอจึงต้องดุ และบอกว่าเด็กอาจเสียชีวิตจากเลือดออกได้ สงสัยกันมั้ยคะ? วันนี้ทีมงานอยู่กับยา จะมาไขข้อข้องใจให้ได้ทราบกัน แต่ก่อนที่จะไปทราบคำตอบ เรามาทำความรู้จักกับ “ไข้” กันก่อนดีกว่าอุณหภูมิแบบไหนกันนะที่จะเรียกว่าเป็นไข้ ?

ไข้(Fever หรือ Pyrexia) คือ อะไร

ไข้(Fever หรือ Pyrexia) เป็นอาการไม่ใช่โรค โดยเป็นอาการที่อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อโรคหรือมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางอย่าง โดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงที่เกิดโรค หรือมีการเจ็บป่วย เวลาที่มีไข้ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจจะร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็นก็ได้ ส่วนสาเหตุของการเกิดไข้นั้นก็มีมากมาย และระยะเวลาที่เป็นไข้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละโรค เพราะไข้หรืออาการตัวร้อนนั้นเป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคบางโรคเท่านั้น

Thaihealth

การแบ่งประเภทของไข้

  • อุณหภูมิที่ถือว่าเป็นไข้หรือมีไข้โดยทั่วไปคือสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
  • ถ้าสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส เรียกว่า “ไข้ต่ำ (Low grade fever)”
  • ถ้าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เรียกว่า “ไข้สูง (High grade fever)”
  • ถ้าสูงเกิน 41.5 องศาเซลเซียส เรียกว่า “ไข้สูงเกิน(Hyperpyrexia)” ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายที่สุด อาจเกิดจากการติดเชื้อที่รุนแรงในกระแสเลือดได้

Hyperthermia Optimized

สาเหตุของการเกิดไข้

Virus

สาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่ทำให้เกิดไข้คือ จากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆที่พบบ่อยคือ

  • จากเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก โรคหัด ไข้หวัดนก อีสุกอีใส โรคมือเท้าปาก งูสวัด เริม เป็นต้น
  • และจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไข้ไทฟอยด์ โรคไข้จับสั่น โรคฉี่หนู โรคไอกรน โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

ไข้จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างเช่น จากโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน โรคข้ออักเสบ รูมาตอย และโรคมะเร็ง น้อยครั้งอาจมีไข้และแพทย์หาสาเหตุไม่ได้เรียกว่า เอฟยูโอ (FUO, Fever of unknown origin) หรือ พียูโอ (PUO, Pyrexia of unknown origin)

Paracetamol

การรักษาโดยทั่วไป ถ้ายังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของไข้ แพทย์จะแนะนำให้กินยาลดไข้พาราเซตามอลเป็นอันดับแรก ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ และสังเกตอาการว่าไข้ลดลงหรือไม่ แต่ในบางครั้งเมื่อมีไข้ต่ำๆอาจไม่จำเป็น ต้องกินยาลดไข้ เพราะเมื่อรักษาสาเหตุ ไข้ก็จะลงกลับเป็นปกติเอง และไม่ควรกินยาไอบรูโพรเฟน หรือยาแอสไพรินดักไว้ก่อน

ทำไมเป็นไข้ จึงไม่แนะนำให้กินยาไอบูโพรเฟน หรือแอสไพรินเป็นอันดับแรก

Ibuprofen

คำตอบคือ ยาทั้ง 2 ตัวนี้ แม้ว่าจะมีฤทธิ์ลดไข้ได้ดีกว่ายา paracetamol แต่การให้ยาพวกนี้จะไปยังยั้งการทำงานของเกร็ดเลือดได้ ซึ่งหากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกีจะพบความผิดปกติ คือมีฮีมาโทคริต(Hematocrit) เพิ่มมากขึ้นถึง 20%, เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ(thrombocytopenia)หรือเกล็ดเลือด(platelet count) <100,000 cells/microliter ซึ่งเชื่อว่า เกิดจากเชื้อไวรัสไปทำลายเซลล์ตัวอ่อนของไขกระดูก(bone marrow precursor cells) เห็นได้จากผู้ป่วยไข้เลือดออก มักจะมีเกล็ดเลือด(platelet count)ที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย

ดังนั้น การให้ยา ASA และ ibuprofen จึงไม่ควรให้เป็นอันดับแรกหากมีไข้ รวมถึงเป็นข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอีกด้วย เพราะผลยับยั้งการจับกลุ่มเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด(platelet aggregation) จะส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้มากขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

Mechanism of action

ในผู้ป่วยไข้เลือดออกควรใช้ยา paracetamol แบบกินในการลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้และแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ จะดีกว่าค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการเกิดภาวะเลือดออก(bleeding) ซึ่งอาจเกิดจากใช้ยาไอบูโพรเฟน(ibuprofen) ในผู้ป่วย DHF(dengue hemorrhagic fever) จำนวน 15 คน เป็นเด็กชาย 7 คน เป็นเด็กหญิง 8 คน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ปี ซึ่งมี 3 คนจากการศึกษานี้เกิดภาวะช็อก 24-48 ชม.ก่อนเข้ารับการรักษา โดย 2 ใน 3 คนนี้ได้รับยาไอบูโพรเฟน(ibuprofen) ก่อนมารพ. ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ยาไอบูโพรเฟน(ibuprofen) จะทำให้ภาวะโรคเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อ่านต่อได้ที่http://journals.lww.com

แนวทางการรักษา(Guideline)ของDengue hemorrhagic fever (DHF)ของ WHO ระบุว่า

  • ให้ยาลดไข้เป็น paracetamol 10 mg/kg ทุก 4-6 ชม. (ระวังการคิดคำนวณขนาดยา) และยาอื่นๆ ที่อาจให้ร่วมได้ เช่น Vitamin C เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการให้ยา Aspirin หรือ NSAIDs ตัวอื่น เช่น ibuprofen เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร(Gastrointestinal bleeding) หรือในผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีอาจเกิด Reye’s syndrome จาก Aspirin ทำให้เด็กมีอาการอ่อนเพลียมาก, แขนขาไม่มีแรง, ตาพร่าเห็นภาพไม่ชัด,พูดไม่ชัดสับสน, คลื่นไส้อาเจียน, ชัก, น้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเสียชีวิตในที่สุด

Aspirin

จากข้อมูลข้างต้น หลายคนคงจะพอเข้าใจแล้วว่าทำไมคุณหมอต้องดุคุณแม่ท่านนั้น เพราะที่ดุก็ด้วยความเป็นห่วง และอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาอย่างเหมาะสม และใช้อย่างจำเป็น ไม่พร่ำเพรื่อ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยที่ไม่รู้ตัว

และที่สำคัญควรรีบพบแพทย์ ถ้าไข้ไม่ลงภายใน 2 – 3 วัน โดยเฉพาะเมื่อไข้สูงขึ้นทั้งๆที่ดูแลตนเองแล้ว แต่ถ้าในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น เด็กอ่อน, เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ (เช่น เบาหวาน โรคติดเชื้อเอชไอวี) ควรพบแพทย์ภายใน 2 วันหรือถ้าอาการมากควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงนะคะ

เรียงเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : WHO, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Wikipedia, คณะเภสัชศาตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Facebook Comments

You may also like