โรคไต 101: สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการและวิธีป้องกันตนเองจากโรคไตเรื้อรัง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก “คุยเรื่องไตไขความจริง”

โดย Boontharika Boonchaisaen

โครงการ คุยเรื่องไต ไขความจริง โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เชิญ น.อ. หญิง พญ. วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี อายุรแพทย์โรคไต ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง มาให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคไต ในตอน “โรคไต 101” มุ่งเสริมความเข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง อาการของโรค ตลอดจนวิธีการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง  

ความสำคัญของไตกับร่างกาย

โดยปกติคนเรามีไต 2 ข้างแต่กำเนิด ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีขนาดประมาณกำปั้นอยู่บริเวณบั้นเอวด้านหลัง ไตทำหน้าที่หลักในการขับของเสียต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายออกมาทางปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่อื่นๆ เช่น ควบคุมปริมาณน้ำ ปรับสมดุลระดับเกลือแร่และความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย อีกทั้งยังทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง และป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งหากไตทำงานผิดปกติจะนำมาซึ่งภาวะไตวายหรือโรคไตเรื้อรัง พร้อมส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายตามมา

โรคไตเรื้อรังเกิดจากอะไร ?

โรคไตเรื้อรังอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่โดยทั่วไปแล้วสาเหตุหลัก 3 อันดับแรกมักเกิดจาก โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตอักเสบ ส่วนสาเหตุอื่นๆ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและทวีป ซึ่งสำหรับประเทศไทย สาเหตุหลักของโรคไตเรื้อรังที่พบมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่น การใช้ยาสมุนไพร การรับประทานยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบเองติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการติดรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสชาติเค็มจัด ทำให้ไตทำงานหนักเกินไปจนเกิดปัญหาไตเสื่อมและกลายเป็นโรคไตเรื้อรังในที่สุด

เราจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง ?

น.อ. หญิง พญ. วรวรรณ เผยว่า หากเริ่มสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าไตทำงานผิดปกติ เช่น สามารถขับปัสสาวะได้น้อยลง ทำให้มีน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้มีอาการตัวบวม เช่น บริเวณหลังเท้า เมื่อใส่รองเท้าประเภทแตะคีบแล้วมีรอยชัด เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการของเสียคั่งในร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยไตวายระยะท้ายๆ จะรู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน และนอนไม่หลับ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว อาจหมายถึงสภาพของไตนั้นเข้าขั้นวิกฤติ

โรคไตเรื้อรังสามารถรักษาได้หรือไม่ และมีวิธีป้องกันอย่างไร ?

ถึงแม้โรคไตเรื้อรังจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะอวัยวะได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้วและจะเสื่อมลงจนถึงระยะที่เรียกว่าไตวายระยะสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลากหลายวิธีในการชะลอการเสื่อมของไตไม่ให้เข้าสู่โรคไตระยะสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมความดัน คุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และคุมอาหาร เช่น ไม่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนหรือมีความเค็มมากเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรหรือยาแก้ปวดลดอักเสบเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะทำให้ช่วยยืดระยะเวลาในการเข้ารับการบำบัดทดแทนไตออกไปได้

สำหรับคนทั่วไป วิธีป้องกันโรคไตเรื้อรังคื

  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเค็มมากเกินไป 
  • ห้ามซื้อยาสมุนไพรหรือยาแก้ปวดมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
  • ควรเลิกสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดแล้ว บุหรี่ยังทำให้เกิดโรคไตวายได้อีกเช่นกัน
  • ห้ามกลั้นปัสสาวะ เพราะเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้เกิดการติดเชื้อบ่อยและส่งผลต่อไต ทำให้ไตเสื่อมและไตวายขึ้นมาได้

นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไตที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ ด้วยวิธีการตรวจเลือดเพื่อหาค่าของเสียครีเอตินีน (Creatinine) และการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาว่ามีค่าโปรตีนรั่วหรือไม่ ซึ่งมีเพียง 2 วิธีนี้เท่านั้นที่จะสามารถวินิจฉัยและคัดกรองความเสี่ยงของโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้

โครงการ “คุยเรื่องไต ไขความจริง” อัพเดทข่าวสาร สาระและความรู้เกี่ยวกับโรคไต โดยมีทีมแพทย์ เภสัชกร นักกำหนดอาหาร และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ผลัดเปลี่ยนกันมามอบสาระความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคไต สามารถติดตามชมคลิปเต็ม ตอน “โรคไต 101” ได้ที่ https://fb.watch/dPKDcZZO1f/

ผู้ที่สนใจสามารถติดตาม “คุยเรื่องไต ไขความจริง” และข้อมูลข่าวสารได้ทาง เพจ Facebook สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย – The Nephrology Society of Thailand และทาง Hashtag #คุยเรื่องไตไขความจริง #สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

แหล่งที่มา : สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย – The Nephrology Society of Thailand

Facebook Comments

You may also like