การดื่มสุราหนักๆ นอกจากจะทำให้สูญเสียความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ หรือเพิ่มความเสี่ยงทำให้ตับพังแล้ว ยังส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามินบี 1 อีกด้วย เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น วันนี้ทีมงานอยู่กับยาจะมาเฉลยให้ทราบไปพร้อมๆกันค่ะ
วิตามินบี 1 สำคัญอย่างไรกับร่างกายมนุษย์
วิตามินบี 1 หรือ Thiamine (ไธอามีน) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ เมื่อเรารับประทานวิตามินบี 1 เข้าไป จะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางไต แล้วขับออกไปกับปัสสาวะ จึงไม่เก็บสะสมไว้ในร่างกาย และที่สำคัญมนุษย์ไม่สามารถสร้างวิตามินชนิดนี้ได้เอง เราจึงต้องการวิตามินบี 1 จากอาหารที่รับประทานอย่างสม่ำเสมอ
โดยหน้าที่หลักของวิตามินชนิดนี้คือ ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ (coenzyme) หรือตัวช่วยการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการสร้างพลังงานในร่างกายให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการเผาเผลาญแป้ง ทำให้เกิดการสร้างพลังงานให้แก่อวัยวะต่างๆ ได้ตามปกติ และนอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อประสาทอีกด้วย
การดื่มสุราหนักเป็นเวลานาน สัมพันธ์กับการขาดวิตามินบี1 อย่างไร
สำหรับผู้ที่ดื่มสุราหรือแอลกอออล์เป็นประจำ มีโอกาสขาดวิตามินบี 1 ได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี 1 ที่บริเวณลำไส้เล็ก และนอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารโดยภาพรวมลดลง ทำให้ได้รับวิตามินบี 1 จากอาหารน้อยลงตามไปด้วย
ผลจากภาวะการขาดวิตามินบี 1 หรือ Thiamine ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง ภาวะนี้มักพบในกลุ่มนักดื่มประจำที่ดื่มมาเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะกลุ่มที่ติดสุรา เมื่อขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง จะทำให้เกิดกลุ่มอาการเวอร์นิคเค-คอร์ซาคอฟ (Wernicke- Korsakoff Syndrome) ซึ่งประกอบด้วย 2 อาการสำคัญ คือ
- ผลทางสมองเวอรนิคเค (Wernicke encephalopathy) เป็นอาการระยะสั้นแต่อันตราย มีอาการ สับสน ควบคุมกล้ามเนื้อบกพร่อง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อในการควบคุมตา
- อาการทางจิตคอรซาคอฟ (Korsakoff psychosis) เป็นกลุ่มอาการเสื่อมของสมองในระยะยาว มีอาการหลงลืมสูญเสียความจำระยะสั้น และอารมณ์แปรปรวน
แนวทางการรักษา คือ แนะนำให้วิตามินบี 1 เสริม โดยการฉีดยาขนาด 100 มก. เข้ากล้ามทุกวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน เนื่องจากผู้ป่วยมักจะดูดซึมวิตามินบี 1 ได้ไม่ดีนัก ถ้าให้โดยการกิน หากไม่สามารถฉีดเข้ากล้ามได้ อาจให้กินก่อนอาหารแทนค่ะ
ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 1
- กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดเรื่องชนิดของอาหารเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ผู้ลี้ภัยหรืออาศัยในค่ายอพยพ หรือชาวประมงที่ออกเรือเป็นเวลานานๆ เป็นต้น
- ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีสารต้านไธอามีน (anti-thiamine factors) สารนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเมื่อเข้าไปในร่างกาย จะทำปฏิกิริยากับไธอามีน เกิดเป็นสารประกอบที่ไม่สามารถทำงานได้ ร่างกายจึงขาดไธอามีน ส่วนสารอีกชนิดหนึ่งนั้นสามารถทำลายไธอามีนได้โดยตรง ตัวอย่างอาหารที่มีสารต้านไธอามีนอยู่มาก ได้แก่ หมาก, ปลาดิบ, หอยดิบ และอาหารที่ผ่านการหมักแล้วมีการเจือปนของ mycotoxin หรือ สารพิษจากเชื้อราต่างๆ
- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงดังกล่าวนี้เป็นสภาวะที่ร่างกายของแม่ต้องการใช้พลังงานสูงมาก จึงใช้ไธอามีนมากขึ้นด้วย ดังนั้นหากรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 เท่าเดิมก็จะมีโอกาสเกิดการขาดวิตามินบี 1 ได้นั่นเอง
วิตามินบี 1 พบในอาหารประเภทใดได้บ้าง
อาหารที่พบวิตามินบี 1 หรือ Thiamine ในปริมาณสูงมีหลายประเภทให้เลือกรับประทาน ยกตัวอย่างเช่น
- ข้าวกล้อง
- ถั่ว งา
- จมูกข้าวสาลี
- นมถั่วเหลือง
- เมล็ดทานตะวัน
- เนื้อหมู
- ปลาทูน่า และปลาแซลมอน เป็นต้น
ดังนั้น หากใครไม่อยากขาดวิตามินบี 1 ก็รีบไปหาอาหารจำพวกนี้มารับประทานกันเลยค่ะ ส่วนการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจช่วยป้องกันการขาดวิตามินบี 1 ได้เช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือควรได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรจะดีกว่านะคะ
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : Alcohol and drug foundation, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คู่มือการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชสําหรับแพทย์