อันตรายจากยาชุด กินแล้วอาจเสี่ยงตายได้

โดย Boontharika Boonchaisaen
อันตรายจากยาชุด

ปัญหาที่มีทีท่าว่าจะแก้ไขยากพอๆกับฝุ่น PM 2.5 อีกหนึ่งปัญหา คือ “ปัญหาการใช้ยาชุด” วันก่อนมีแฟนเพจผู้หวังดีส่งข้อมูลการซื้อขายยาชุดมาให้แอดมินช่วยประชาสัมพันธ์ถึงโทษหรืออันตรายของการรับประทานยาชุด ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ดีมากค่ะ ซึ่งมีข้อความมาขอความช่วยเหลือว่า…

อยากจะรบกวนadminช่วยลงเรื่องยาชุดแบบที่เปนยาเสตียรอที่ปนมาในรูปแบบยาแผนโบราณ มีคนจำนวนมากที่เป็นโรคเข่าเสื่อม แล้วหลงซื้อยาแบบนี้มากินบอกกันปากต่อปากว่าดีนักหนา ยาแบบนี้เป็นภัยเงียบที่ระบาดในคนสูงอายุข้อเสื่อมหากทางเพจลงเตือนภัยไว้เผื่อลูกๆหลานๆ ใครมาเห็นจะได้ไปบอกพ่อแม่ที่กินยานี้อยู่ รบกวนได้ไหมคะ จะได้ช่วยให้คนไทยไม่เป็นเหยื่อ เพราะทางเพจมีคนติดตามมากน่าจะช่วยได้เยอะค่ะ

มาทำความรู้จักยาชุดกันก่อนดีกว่า

ยาชุด

ยาชุด หมายถึง ยาที่ผู้ขายจัดไว้เป็นชุด โดยทั่วไปจะมียาตั้งแต่ 3-5 เม็ดขึ้นไป มีรูปแบบและสีต่างๆ กัน ในยา 1 ชุด จะประกอบด้วยยาหลายๆ ชนิดรวมกัน ผู้ขายจะให้ผู้ซื้อทานครั้งละ 1 ชุด โดยไม่มีการแบ่งว่าแต่ละเม็ดเป็นยาชนิดใด ควรทานเวลาใด

ยาชุดมีกี่ประเภท

ยาชุดสมุนไพร

ขอบคุณภาพ ยาชุดสมุนไพรจากแฟนเพจ

  1. ยาชุดสด ผู้ขายจะจัดยาให้เป็นชุดด้วยวิธีการซักถามอาการจากผู้ซื้อ โดยผู้ขายมักเป็นผู้ไม่มีความรู้เรื่องโรค อาการของโรค ยาและการใช้ยา
  2. ยาชุดแห้ง เป็นยาชุดที่จัดบรรจุไว้ในซองพลาสติก มีการพิมพ์ฉลากบรรยายสรรพคุณของยา โดยสรรพคุณที่บรรยายไว้มักโอ้อวดเกินความจริง เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความสนใจ เช่น ยาชุดรักษาอาการ เจ็บเอว ปวดข้อ ปวดกระดูก เส้นเอ็นอักเสบ อัมพาต เป็นต้น

อันตรายจากการใช้ยาชุด

polypharmacy

  • ได้รับยาเกินขนาด เนื่องจากในยาชุดมักมีตัวยาซ้ำซ้อนกัน เช่น ยาชุดแก้ปวดเมื่อย 1 ชุด จะมียาแก้ปวด 2-3 เม็ด เมื่อรับประทานเข้าไป โอกาสในการได้รับอันตรายจากสารพิษของยาจึงมีเพิ่มขึ้น เช่น อาจเกิดกระเพาะทะลุได้
  • ยาชุดที่มีจำหน่าย มักมียาสเตียรอยด์ร่วมด้วย เพื่อทำให้อาการของโรคบรรเทาโดยเร็ว แต่ยาสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงสูง หากรับประทานไม่ถูกต้อง จะทำให้กระดูกผุ บวมน้ำ ความต้านทานต่ำ เป็นต้น
  • ได้รับประทานเกินความจำเป็น เช่น ยาชุดแก้ไข้หวัด ประกอบด้วย ยาแก้ปวดแก้ไข้ ยาลดน้ำมูก ยาทำให้จมูกโล่ง ยาแก้ไอ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในบางครั้งผู้ซื้ออาจไม่มีอาการไอ หรือไข้ ก็ไม่จำเป็นต้องทานยาเหล่านี้
  • ได้รับยาไม่ครบขนาด เช่น ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจำเป็นต้องทานให้ครบขนาด มิฉะนั้นจะเกิดการดื้อยา ทำให้ต้องใช้ยาแรงขึ้น เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
  • ในยาชุดมักมียาเสื่อมคุณภาพ ยาปลอม หรือยาไม่ได้มาตรฐาน

คำแนะนำเพิ่มเติมในการซื้อยาที่ถูกต้องและปลอดภัย

care_clinic.

  1. ควรซื้อยาจากร้านที่ได้รับอนุญาต อย่าซื้อยาจากรถเร่ หรือร้านขายของชำ และหลงเชื่อคำโฆษณา
  2. ยาซื้อควรบรรจุอยู่ในภาชนะที่มีฉลากปิดเรียบร้อย เก็บให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น
  3. ก่อนกินยาควรอ่านวิธีใช้ ข้อควรระวัง คำเตือน เอกสารกำกับยาให้ละเอียดทุกครั้ง
  4. หากเจ็บป่วยเล็กน้อย ให้เลือกใช้ยาสามัญประจำบ้าน
  5. อย่าซื้อ และอย่าใช้ยาชุด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนทุกครั้ง

บางคนอาจคิดว่ายาชุด หาซื้อง่าย ราคาถูก กินไปแค่ชุดเดียวก็หายเลย บางคนอาจหลงเชื่อคำโฆษณา ว่ายาชุดนี้ตรวจแล้วไม่มีสเตียรอยด์ผสม ปลอดภัยแน่นอน แต่หารู้ไม่ว่า ความจริงแล้วอันตรายมาก ดังนั้น หยุดซื้อและขายยาชุดกันดีกว่านะคะ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาค่ะ

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

Facebook Comments

You may also like