ใช้ยาเลื่อนประจำเดือนอย่างไรให้ปลอดภัย และใครบ้างที่ห้ามใช้

โดย Boontharika Boonchaisaen

ปัญหาที่สาวๆหลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นเวลาไปเทียวทะเลหรือเล่นน้ำสงกรานต์ คงหนีไม่พ้น เรื่องวันนั้นของเดือนหรือมีประจำเดือนนั่นเอง ซึ่งบางคนอาจไม่ชอบใช้ผ้าอนามัยแบบสอด และเคยได้ยินมาว่ามียาที่สามารถเลื่อนประจำเดือนได้ แต่ไม่ทราบว่าใช้อย่างไร ถึงจะปลอดภัย วันนี้ทีมงานอยู่กับยาจะมาไขข้องใจให้ได้ทราบกันค่ะ

มาทำความรู้จักยาเลื่อนประจำเดือนกันก่อนดีกว่า

ยาเลื่อนประจำเดือน มีตัวยาสำคัญ คือ นอร์-เอ-ทีส-เตอ-โรน (Norethisterone) ในขนาด 5 มิลลิกรัม ชื่อการค้าที่คุ้นเคย คือ ปรี-โม-ลุท-เอ็น (Primolut® N) ยานี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน และนอกจากใช้เลื่อนประจำเดือนแล้ว ยังมีข้อบ่งใช้ในการรักษาความผิดปกติของรอบเดือนได้หลายชนิด เช่น กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือเรียกย่อๆ ว่า พี-เอ็ม-เอส (premenstrual syndromes: PMS) และภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ได้อีกด้วย

ยาเลื่อนประจำเดือน มีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน จนกว่าจะหยุดยา

ยาเลื่อนประจำเดือนควรกินตอนไหน ถึงได้ผล

ควรเริ่มรับประทานอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือน โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (เช้าและเย็น) หรือวันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน และเย็น) และจะมีประจำเดือนภายใน 2-3 วันหลังจากหยุดยา

ไม่ควรใช้ยานานเกิน 2 สัปดาห์ เพราะการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย และรอบเดือนมาผิดปกติได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารอบเดือนนี้คิดว่าประจำเดือนจะมาวันที่ 12 เมษายน ควรรับประทานยาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน และหากหยุดยาวันที่ 16 เมษายน ประจำวันเดือนจะเริ่มมาประมาณวันที่ 18, 19 เมษายนค่ะ

ใครบ้าง ที่ไม่ควรใช้ยาเลื่อนประจำเดือน

pregnant

  • กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยาอาจทำให้ทารกในครรภ์ที่เป็นเพศหญิงมีการพัฒนาอวัยวะเพศภายนอกคล้ายกับเพศชายได้
  • กำลังให้นมลูกด้วยน้ำนมตัวเอง เนื่องจากยาสามารถปนออกมากับน้ำนมของแม่ จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อลูกได้
  • มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน ยกตัวอย่างเช่น ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep venous thrombosis )เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้
  • เคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคตับขั้นรุนแรง เนื่องจากยาถูกกำจัดที่ตับ หากตับทำงานไม่ดีอาจทำให้ยาสะสมในร่างกายได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ตับอักเสบได้
  • เคยเป็นหรือกำลังเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่อวัยวะเพศชนิดที่ไวต่อฮอร์โมน เนื่องจากยาอาจส่งเสริมการเจริญเติบโตหรือพัฒนาของเนื้อร้ายได้
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ ไม่ควรใช้เนื่องจากอาจเกิดการแพ้ยาซ้ำได้

อาการข้างเคียงที่พบ มีอะไรบ้าง

  • รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • ประจำเดือนมาถี่ แต่มาแบบกะปริบกะปรอย หรือไม่มาเลย
  • ปวดศีรษะ
  • คัดตึงเต้านม
  • คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ

อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่รับประทานยาก่อนประจำเดือนมาแค่ 1 วัน หรือตอนที่กำลังมีประจำเดือน ยาอาจมีผลเพียงช่วยลดปริมาณและจำนวนวันของการมีประจำเดือนให้น้อยลง เพราะเยื่อบุโพรงมดลูกได้หลุดลอกออกมาแล้ว และหลังจากหยุดยา จะทำให้มีประจำเดือนซ้ำอีกในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน

ดังนั้น การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง และศึกษาข้อมูลก่อนการใช้ยา รวมถึงไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้รอบการมาของประจำเดือนผิดปกติ และอาจเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้

เรียบเรียงโดย  อยู่กับยา

แหล่งที่มา : IBM Micromedex®, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)

Facebook Comments

You may also like