ยารักษาสิวใดบ้าง ที่ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ในหญิงตั้งครรภ์

โดย Boontharika Boonchaisaen
acne treatment

ขึ้นชื่อว่าผู้หญิง ไม่ว่าวัยไหนก็ต้องกังวลกับปัญหาสิวกันทั้งนั้น ซึ่งการรักษาอาจแตกต่างกันตามระดับความรุนแรงของการเกิดสิว แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงนอกเหนือจากระดับความรุนแรงนั้น ก็คือ คุณกำลังตั้งครรภ์ร่วมด้วยหรือเปล่า? เพราะหากคุณกำลังตั้งครรภ์อยู่ ยารักษาสิวบางตัว อาจเป็นข้อห้ามใช้ เพราะมีโอกาสทำให้เกิดทารกพิการตามมาได้ด้วยนะคะ

สาเหตุของการเกิดสิวในหญิงตั้งครรภ์

pregnant

สาเหตุหลักของการเกิดสิวช่วงตั้งครรภ์ คือ ฮอร์โมน เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นจะไปกระตุ้นไขมันในชั้นผิวหนังจึงทำให้รู้สึกว่าผิวมันขึ้น ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน รวมไปถึงการติดเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดการอักเสบของสิวตามมาได้

แนวทางการรักษาสิวในคนทั่วไป จะพิจารณาตามระดับความรุนแรงของสิว ซึ่งอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่  แต่ในหญิงตั้งครรภ์อาจมีข้อจำกัดในการใช้ยารักษาสิวบางตัว เนื่องจากอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ ซึ่งทีมงานได้สรุปมาให้อ่านกันคร่าวๆดังนี้ค่ะ

ยารักษาสิวที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

  • กลุ่มยาทารักษาสิว ที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ คือ Topical retinoids หรือเป็นกลุ่มของอนุพันธ์วิตามินเอ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนัง ส่งผลให้สิวหรือ Comedones หลุดออกมาจากผิวหนัง นอกจากนี้ยังป้องกันไม่ให้ร่างกายสร้าง Comedones ขึ้นมาใหม่ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น adapalene (Differin), tazarotene (Tazorac) and tretinoin (Retin-A) เป็นต้น จัดอยู่ใน Pregnancy category C

มีหลายการศึกษายืนยันว่ายาสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังได้น้อย แต่ในต่างประเทศมีการฟ้องร้องกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการใช้ยากลุ่มดังกล่าวในหญิงตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกพิการได้ หรือคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เนื่องจากยาอาจถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ ถึงแม้จะมีปริมาณน้อยก็ตาม

  • กลุ่มยารับประทานรักษาสิว ที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ คือ

doxycycline

  1. Oral Tetracycyclines ยกตัวอย่างเช่น Tetracycline, Doxycycline และ Minocycline เนื่องจากยาอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความพิการหรือผิดปกติของกระดูกและฟันต่อทารกในครรภ์ อาจทำให้สีของฟันเปลี่ยนไปอย่างถาวร และอาจเกิดพิษต่อตับของมารดา จัดอยู่ใน Pregnancy category D
  2.  Hormone therapy ยกตัวอย่างเช่น Flutamide และ Spironolactone จัดอยู่ใน Pregnancy category D
  3. Isotretinoin ยานี้มีผลทำให้เด็กทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้ และแม้ว่าเด็กทารกที่คลอดออกมาจะมีความปกติแต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะพบความบกพร่องทางสมองและเชาว์ปัญญาได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ได้รับยาisotretinoin จะต้องคุมกำเนิดก่อนรับประทานยาอย่างน้อย 3 เดือน และคุมกำเนิดตลอดระยะเวลาที่ใช้ยาตัวนี้ในการรักษา และต้องหยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจึงจะตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นก่อนใช้ยาisotretinoin จำเป็นต้องตรวจการตั้งครรภ์ทั้งก่อน/ระหว่างและหลังการกินยานี้ทุกครั้ง และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จัดอยู่ใน Pregnancy category X
  4. Oral Contraceptives ยาคุมกำเนิดเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการใช้รักษาสิว แต่ถ้าหากรับประทานยานี้ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดได้ และทารกแรกเกิดอาจมีน้ำหนักตัวน้อย จัดอยู่ใน Pregnancy category X
  5. Amoxicillin และ Bactrim (sulfamethoxazole+trimethoprim) ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและทารกพิการปากแหว่งได้

ยารักษาสิวที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์

  • กลุ่มยาทารักษาสิว ที่ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์

  1. Topical Benzoyl peroxide สามารถฆ่าเชื้อ P. acnes ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว โดยการปล่อย oxygen free radical และสามารถละลายหัวสิวได้ มีการศึกษารายงานว่า มีเพียง 5% ของปริมาณยาเท่านั้นที่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ จึงทำให้ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์
  2. Topical Erythromycin และ Clindamycin gel เป็นยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ทารักษาสิว จัดอยู่ใน  Pregnancy category B
  3. Azaleic acid ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว และยับยั้งการผลัดเซลล์ของหนังกำพร้าที่มากผิดปกติ จัดอยู่ใน  Pregnancy category B
  • กลุ่มยารับประทานรักษาสิว ที่ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์

erythromycin

  1. Oral erythromycin จัดอยู่ใน Pregnancy category B ขนาดเริ่มต้นที่ใช้ในการรักษาคือ 1000 มก.ต่อวัน โดยปกติแล้วจะแบ่งให้กินวันละ 4 ครั้ง และหากอาการดีขึ้นแล้วให้ลดปริมาณยาลงเป็น 250-500 มก.ต่อวัน แต่ไม่แนะนำให้ใช้ erythromycin estolate เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงทำให้ตับอักเสบได้
  2. Oral steroids เช่น Prednisolone อาจใช้ขนาดต่ำสำหรับรักษาสิวในรายที่เป็นสิวขั้นรุนแรง แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเกิดสิว

acne

  • ควรล้างทำความสะอาดใบหน้า 2 ครั้งต่อวัน หรือหลังจากมีเหงื่อออก แต่ไม่ควรบ่อยเกินไป
  • ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้าที่ปราศจากน้ำมันหรือแอลกอฮอล์ สังเกตจากคำว่า oil-free, alcohol-free และไม่ควรขัดถูใบหน้าแรงๆ
  • ควรใช้สำลีแผ่นหรือผ้าสะอาดเช็ดหน้าเบาๆ และทามอยส์เจอร์ไรเซอร์หลังล้างหน้าทุกครั้งเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น
  • สระผมเป็นประจำเพื่อลดความมันเป็นเส้นผม แต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมหรือตกแต่งผมที่ไม่มันเนื่องจากความมันอาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้
  • เปลี่ยนปลอกหมอนสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ เช่น แคะ แกะ เกา เนื่องจากมือของเราเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
  • ควรใช้หูฟังในการคุยโทรศัพท์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้จอโทรศัพท์สัมผัสกับใบหน้าโดยตรง

การเกิดสิวในระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลายๆท่าน แต่ยิ่งกังวล ยิ่งทำให้สิวบุกกว่าเดิม ดังนั้น ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์แนะนำว่าควรดูแลผิวหน้าด้วยวิธีธรรมชาติและห่างจากสารเคมีมากที่สุดจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนะคะ แต่หากต้องการรักษาจริงๆ อาจปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อยาใช้เองดีที่สุดค่ะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ได้ ที่นี่

แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : องค์การเภสัชกรรม, Treatment of Acne in PregnancyAcne Pharmacotherapy: A Reviewhttps://www.babymed.comAcne During Pregnancy

Facebook Comments

You may also like