ในปัจจุบันปัญหา “การนอนไม่หลับ” ถือว่าเป็นปัญหาทั่วไป ที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยรุ่น ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งผู้คนต่างๆ ก็พยายามหาวิธีที่จะทำให้ตนเองพ้นจากภาวะดังกล่าว โดยหนึ่งในทางเลือกที่นิยมกันในปัจจุบันนี้ คือ การรับประทานอาหารเสริมเมลาโทนิน
เมลาโทนิน คืออะไร ???
เมลาโทนิน (Melatonin) คือ ฮอร์โมนธรรมชาติในร่างกายของมนุษย์ ถูกผลิตและปลดปล่อยออกมาจากต่อมไพเนียล (Pineal gland) มีหน้าที่ในการส่งสัญญาณการนอนหลับให้แก่ร่างกาย
การผลิตและปลดปล่อยเมลาโทนินนั้นจะขึ้นกับช่วงเวลาของวัน ซึ่งระดับเมลาโทนินจะสูงขึ้นในเวลากลางคืน และลดต่ำลงในเวลากลางวัน โดยการที่เราได้รับแสงในเวลากลางคืนมีผลยับยั้งการผลิตเมลาโทนินในสมองได้
ในประเทศไทย เมลาโทนิน ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย ในชื่อการค้า Circadin®* ซึ่งมีตัวยาสำคัญคือ Melatonin 2 mg มีข้อบ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะการนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary Insomnia)** ที่มีอายุ ≥ 55 ปี ในระยะสั้น (ระยะเวลาการใช้ยาติดต่อกันไม่เกิน 13 สัปดาห์) เช่นเดียวกับหลายประเทศในแถบยุโรป
ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้ให้เมลาโทนิน ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริม (Dietary Supplement) ซึ่งไม่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคเหมือนดังเช่นเมลาโทนินในประเทศไทย
* ยา Circadin® เป็นยาในรูปแบบ Prolonged release tablet ควรรับประทานยาทั้งเม็ดครั้งเดียว ไม่ควรหัก บด หรือแบ่งยาก่อนรับประทาน
** ภาวะการนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary Insomnia) คือ ภาวะการนอนไม่หลับ ที่ไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้ยา, อาการทางจิตประสาท หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น Jet lag หรือความไม่สบายใจบางอย่าง เป็นต้น
+ เมลาโทนินและผลต่อการนอนหลับ +
จากการศึกษาเมลาโทนินต่อผลการนอนหลับเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (Placebo) พบว่าเมลาโทนินมีประสิทธิภาพในการช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้นในผู้ทดลอง ดังนี้
- ระยะเวลาตั้งแต่การปิดไฟจนเข้าสู่ระยะการหลับ (Sleep latency) ลดลง คือการที่ผู้ทดลองได้รับเมลาโทนิน ทำให้นอนหลับได้ไวขึ้น
- ระยะเวลาการนอนรวมทั้งหมด (Total sleep time) เพิ่มขึ้น คือการที่ผู้ทดลองได้รับเมลาโทนิน ทำให้นอนหลับได้นานขึ้น
- คุณภาพในการนอน (Quality of sleep) ดีขึ้น
- จำนวนครั้งของการตื่นระหว่างนอนหลับ (Number of awakenings) ลดลง
- ความตื่นตัวในตอนเช้า (Morning alertness) ดีขึ้น
อาการข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบได้จากการใช้เมลาโทนิน
- ปวดศีรษะ (Headache)
- เยื่อบุโพรงจมูกและลำคออักเสบ (Nasopharyngitis)
- ปวดหลัง (Back pain)
- ปวดข้อ (Arthralgia)
- ง่วงซึม (Drowsiness) หากได้รับเมลาโทนินในปริมาณที่สูงเกินไป
- เลือดออกผิดปกติ (Bleeding disorder)
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น (Diabetes)
- ความดันเลือดสูงขึ้น (High blood pressure)
- กระตุ้นอาการชักในผู้ป่วยลมชัก (Seizure)
การใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม
- ผู้ป่วยเด็ก หรือวัยรุ่นที่มีอายุ < 18 ปี: ยังไม่มีผลการศึกษาความปลอดภัยในผู้ป่วยเด็กหรือวัยรุ่นที่มีอายุ < 18 ปี จึงไม่แนะนำให้ใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ผู้ป่วยสูงอายุ: ผู้ป่วยสูงอายุจะสามารถกำจัดเมลาโทนินได้ลดลง จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
- ผู้ป่วยโรคไต: ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตลดลง พบว่าไม่มีผลต่อการกำจัดเมลาโทนินออกจากร่างกาย แต่จากสภาวะของร่างกาย การใช้เมลาโทนินควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
- ผู้ป่วยโรคตับ: ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับลดลง จะสามารถกำจัดเมลาโทนินได้ลดลง จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
- ผู้ป่วยตั้งครรภ์ และผู้ป่วยให้นมบุตร: ยังไม่มีผลการศึกษาความปลอดภัยในผู้ป่วยตั้งครรภ์ และ/หรือผู้ป่วยให้นมบุตร จึงไม่แนะนำให้ใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยกลุ่มนี้
การใช้เมลาโทนินร่วมกับยาอื่น
เมลาโทนินถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยใช้เอนไซม์ในตับ เช่นเดียวกับยาอื่นๆ หลายชนิด จึงอาจมีผลทำให้เมลาโทนินในร่างกายถูกกำจัดลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างยาที่มีผลได้แก่
- ยา Cimetidine และยาฆ่าเขื้อในกลุ่ม Quinolone มีผลทำให้ระดับเมลาโทนินในร่างกายสูงขึ้นได้
- ยา Carbamazepine และ ยา Rifampicin มีผลทำให้ระดับเมลาโทนินในร่างกายลดต่ำลงได้
ดังนั้นการใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นๆ ร่วมด้วยจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
+ ควรใช้เมลาโทนินหรือไม่ หากนอนไม่หลับ +
จากการศึกษาพบว่าเมลาโทนินมีประสิทธิภาพในการช่วยเรื่องการนอนไม่หลับ ในผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวได้จริง แต่เมลาโทนินก็มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ร่วมกับมีผลต่อยาอื่นๆ ที่ใช้เป็นยาประจำตัวของผู้ป่วยได้ ก่อนใช้เมลาโทนินจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายของผู้ป่วย และไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้ออาหารเสริมเมลาโทนินจากต่างประเทศมารับประทานเอง เนื่องจากอาหารเสริมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยถือว่าเป็นอาหารเสริมผิดกฎหมาย อาจทำให้ได้รับอันตรายจากการใช้อาหารเสริมดังกล่าวได้
ทางเลือกอื่นๆ หากนอนไม่หลับ
- การรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามิน และกรดอะมิโน Tryptophan สูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิต Melatonin ภายในร่างกาย เช่น กล้วย, ข้าวโอ๊ต, สับปะรด, ส้ม, มะเขือเทศ, เชอรี่ และถั่ว เป็นต้น
- การมีสุขอนามัยการนอนที่ดี (Sleep hygiene)
- การเข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน
- การทำให้สภาวะห้องนอนเงียบ ปิดไฟ ผ่อนคลาย และมีอุณหภูมิที่เหมาะสม
- ไม่ดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ระหว่างเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือมีแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
- ออกกำลังกายทุกวัน จะช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
- ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหรือเภสัชกร เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
แปลและเรียบเรียงโดย : อยู่กับยา
แหล่งข้อมูล: Meta-analysis: melatonin for the treatment of primary sleep disorders., Melatonin: In Depth, Melatonin and Sleep, Circadin (MIMS), Circadin Product information (1), Circadin Product information (2), Tips for Better Sleep