ช่วงนี้แอดมินได้ไปสอนพ่นยาเด็กบ่อยมาก เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้เด็กป่วยกันเยอะ และโรคที่มักมากับอากาศเปลี่ยน และมักระบาดในช่วงปลายฤดูฝนอีกโรคหนึ่ง ก็คือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และเชื้อก่อโรคที่ติดอันดับต้นๆ ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูกน้อย คือ เชื้อไวรัส RSV นั่นเองค่ะ
มาทำความรู้จักกับเชื้อไวรัส RSV กันดีกว่า
RSV มีชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อสาเหตุที่พบบ่อยของ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (pneumonia, bronchiolitis) ในเด็กไทย ส่วนมากจะไม่ค่อยแสดงอาการกับผู้ใหญ่ แต่จะแสดงอาการรุนแรงในทารกหรือเด็กเล็ก, เด็กคลอดก่อนกำหนด, เด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจ, โรคปอด, โรคหอบหืด หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรง และเป็นไวรัสที่สามารถทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้
สังเกตอย่างไร ว่าลูกน้อยติดเชื้อไวรัส RSV
เนื่องจากโรคติดต่อเชื้อไวรัส RSV มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดา ดังนั้น ผู้ปกครองควรสังเกตอย่างละเอียดว่าลูกน้อยของคุณมีอาการแบบนี้หรือไม่
- หอบเหนื่อย
- หายใจแรง หายใจตื้นๆ สั่นๆและเร็ว
- อารมณ์ไม่ดี
- กินนมน้อยลง หรือกินอาหารน้อยกว่าปกติ
- มีอาการซึมเศร้า
- มีเสมหะออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติ
- ไอ ออกมาเป็นเสียงโขลกๆ หรือมีเสียงหวีดๆ ในปอด (เกิดจากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
- ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการถึงขั้นตัวเขียว เป็นต้น
การรักษาหากติดเชื้อไวรัส RSV
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสจึงทำให้ไม่มียารักษาอาการโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อย หอบ มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลง อาจมีการให้ยาพ่นขยายหลอดลม ร่วมกับการให้ออกซิเจน
ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจจะต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้อาจจะต้องมีการให้สารน้ำทดแทนเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำโดยเฉพาะในเด็ก และในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้ออื่นๆ มักจะได้รับยาฆ่าเชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมตามอาการ
วิธีป้องกันลูกน้อยจากเชื้อไวรัส RSV
เชื้อไวรัส มักแพร่ระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาวระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ มักจะป่วยบ่อย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงและมักจะรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานที่ที่เด็กอยู่กันมากๆ เช่น โรงเรียนหรือสถานรับลี้ยงเด็ก ดังนั้น หากอยากให้ลูกน้อยของคุณปลอดภัยจากเชื้อไวรัสนี้ ควรรู้จักวิธีป้องกันที่ถูกต้อง คือ
- ล้างมือบ่อย ๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนกินอาหาร ตามหลัก 7 ขั้นตอน
- งดไปในสถานที่แออัด เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก
- ทำความสะอาดของเล่น
- ผู้ป่วยต้องปิดปากหรือใส่หน้ากากอนามัยเวลาไอจามเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด
นอกจากการป้องกันไม่ให้ลูกน้อยติดเชื้อไวรัส RSV แล้ว คุณแม่หรือคุณพ่อท่านใดที่ลูกน้อยกำลังป่วยอยู่ ก็ต้องป้องกันการติดเชื้อจากลูกเช่นเดียวกันนะคะ ไม่เช่นนั้นจะป่วยกันทั้งครอบครัวได้จ้า
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งข้อมูล : คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส), ราชวิทยาลัย กุมารแพทย์แห่งประเทศไทย