วันนี้ มีอุทาหรณ์สอนใจสำหรับบ้านหลังไหนที่มีเด็กเล็กอยู่ในครอบครัว เรื่องที่หลายครอบครัวอาจจะมองข้ามหรือคาดไม่ถึงว่ามันจะเกิดขึ้น และลืมไปว่า มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เหมือนกับกรณีศึกษาที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ค่ะ
เภสัชกร : คุณยาย หลานป่วยเป็นอะไรมาคะ
คุณยาย : แพ้ยามาค่ะคุณหมอ กินแล้วหลับ นิ่งไปเลย
เภสัชกร : (เริ่มสงสัยว่าแพ้ยาอะไร ทำไมกินแล้วนอนนิ่ง) ไหนหนูขอดูยาที่หลานคุณยายกินหน่อยได้มั้ยคะ
หลังจากที่คุณยายหยิบยาจากกระเป๋าให้เภสัชดู ยิ่งทำให้เกิดความสงสัยหนักขึ้นอีก
เภสัชกร : คุณยาย หลานคุณยายอายุ 3 ปีเองไม่ใช่หรอคะ กินยาเม็ดได้แล้วหรอ
คุณยาย : จริงๆ ไม่ใช่ยาของหลานหรอกจ้า แต่หลานมันไปหยิบยาของยายมากินเล่น ยายไม่รู้ว่าไปแอบเอามากินตอนไหน ยายเอาไว้ในกระเป๋า
เภสัชกร : แล้วคุณยายรู้ได้ยังไงคะว่าหลานเอาไปกินจริง น้องกลืนยาได้แล้วหรอคะ
คุณยาย : ก็ยายกลับมาดูในซองยา ยามันหายไป แล้วไปเห็นหลานนอนนิ่ง ปลุกไม่ตื่นซักที เลยพามารพ. นี่แหละค่ะคุณหมอ
สรุปคือ หลานกินยาของคุณยาย ซึ่งยาของคุณยาย เป็นยาคลายเครียดชื่อ Amitriptyline 10 mg ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้หลานนอนแน่นิ่งไป และที่สำคัญหลานอายุเพียง 3 ปีเท่านั้น ซึ่งยาตัวนี้มีข้อห้าม คือ “ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีรับประทาน”
Amitriptyline คือ ยาอะไร ?
Amitriptyline (อะมิทริปไทลีน) เป็นยาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า โดยจัดเป็นยาต้านโรคซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressant) ใช้ได้ทั้งในเด็กวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ แต่จะไม่ใช้ยานี้กับเด็กเล็ก
ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับ (เข้าสู่เซลล์ประสาท) ของสารสื่อประสาท Noradrenaline และ Serotonin ที่มีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย เป็นเหตุให้สารทั้ง 2 ตัวในสมองมีปริมาณเพิ่มขึ้น ด้วยผลดังกล่าว จึงทำให้ร่างกายเกิดความรู้สึกผ่อนคลายและลดภาวะซึมเศร้าในที่สุด
อาการข้างเคียง มีอะไรบ้าง
อาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ท้องผูก ตามัว วิงเวียน ง่วงนอน อ่อนเพลียเหงื่อออกมาก ชัก ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ทำไมถึงห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีรับประทาน?
ต้องเกริ่นก่อนว่า การใช้ยาของเด็กกับผู้ใหญ่ต่างกันนะคะ เพราะเด็กจัดเป็นหนึ่งในผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ และนอกจากเด็กแล้ว ก็ยังมีผู้ป่วยที่ตับบกพร่อง ไตเสื่อม และเป็นผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งการให้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพิเศษกว่าผู้ป่วยทั่วไป
เหตุผลที่การให้ยาในเด็กต่างจากผู้ใหญ่ ก็คือ สรีระและระบบการทำงานของเด็กที่ต่างจากผู้ใหญ่
ดังนั้นก่อนที่จะให้ยาเด็กทุกครั้งต้องมีการระวังเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังมีดังนี้
ระบบการดูดซึมยา
- ทางเดินอาหาร ปกติสภาวะในกระเพาะอาหารของผู้ใหญ่ จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนซึ่งจะช่วยดูดซึมยาที่เป็นกรดอ่อนได้ดี แต่ในเด็กแรกเกิดกระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดน้อยมาก ทำให้การดูดซึมยาที่เป็นกรดอ่อนไม่ดี เช่นยาลดไข้แก้ปวดกลุ่มแอสไพริน แต่จะดูดซึมยาที่เป็นด่างอ่อนได้ดีกว่า ซึ่งเด็กจะมีการพัฒนาระบบย่อยอาหารให้การดูดซึมยาเหมือนกับผู้ใหญ่ เมื่ออายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป และกระเพาะอาหารของเด็กอ่อนจะบีบตัวมากกว่าผู้ใหญ่ จึงดูดซึมยาและอาหารได้เร็วกว่า ซึ่งการบีบตัวของกระเพาะอาหารเด็กจะเหมือนกับผู้ใหญ่ เมื่ออายุได้ 6 เดือน
- ทางผิวหนัง ชั้นของผิวหนังของเด็กจะบอบบางกว่าผู้ใหญ่มาก ดังนั้นการใช้ยาทางผิวหนังจึงดูดซึมได้ง่ายกว่า ควรทายาผิวหนังให้เด็กบางๆ และหากทายาถี่กว่าที่แพทย์สั่ง จะทำให้เด็กได้รับยามากเกินไป
ระบบการเปลี่ยนแปลงและกำจัดของยา
- ตับและระบบเอ็นไซม์ที่จำเป็นต่อขบวนการดังกล่าวของเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้ขจัดยาได้ไม่ดี เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) อาจทำให้เด็กเกิดอาการตัวซีดเทา เพราะขาดออกซิเจน ที่เรียกว่า Gray Baby Syndrome
- ไตของเด็กจะทำงานได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่เมื่ออายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี นอกจากนี้ น้ำปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะมีความเป็นกรดมากกว่าผู้ใหญ่ จึงส่งผลให้การขับถ่ายยาต่างจากผู้ใหญ่อีกด้วย
การคำนวณขนาดยาของเด็กจากน้ำหนักร่างกาย
เด็กจะมีน้ำหนักตัว ส่วนสูง พื้นที่ผิวของร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นขนาดยาของเด็กจึงควรน้อยกว่าขนาดยาของผู้ใหญ่
และที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมเภสัชกรต้องแนะนำผู้ป่วยว่าควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก นั่นเองค่ะ
การสั่งใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยเด็กหรือกลุ่มผู้ป่วยพิเศษนั้นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาทุกครั้ง และอย่ามองข้ามการเก็บรักษายาให้ถูกวิธีตามที่เภสัชกรแนะนำด้วยนะคะ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เหมือนเรื่องของคุณยายกับหลานเรื่องนี้ค่ะ…
ด้วยความปรารถนาดีจากทีมงานอยู่กับยา
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สาระสุขภาพยาน่ารู้โดยเภสัชกรอุทัย, หาหมอ.com