ภาวะ Digoxin intoxication คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับยาฉีด Insulin

โดย Boontharika Boonchaisaen

วันก่อนแอดมินมีโอกาสได้ดูหนังใน Netflix เรื่อง The Good Nurse เป็นหนังระทึกขวัญอาชญากรรม แนวสืบสวนสอบสวนคดีทางการแพทย์ ซึ่งสร้างมาจากเรื่องจริงที่ใหญ่ที่สุด ตัวละครสำคัญเป็นบุรุษพยาบาลชื่อ Charles Cullen รับบทโดย Eddie Redmayne เขาอาจเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่มีผลงานการฆาตกรรมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จากการสังหารผู้ป่วยได้มากถึง 400 คนตลอดอาชีพการทำงานทั้ง 16 ปีของเขา ด้วยความช่วยเหลือจากผู้บริหารโรงพยาบาลที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนของเขาได้ แต่เพราะความพยายามอย่างกล้าหาญของเพื่อนพยาบาล และเพื่อนสนิทของเขาคือ Amy Loughren รับบทโดย Jessica Chastain ที่ทำให้เขายอมรับสารภาพ หนังเรื่องนี้นอกจากจะให้ความตื่นเต้นและลุ้นระทึกแล้ว ยังแฝงไปด้วยความรู้ทางการแพทย์อีกด้วย เนื่องจากปมของเรื่องเกิดขึ้นเพราะผู้ป่วยรายหนึ่งเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่หลังจากสืบสวนกลับพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนั้นอาจเกี่ยวข้องกับยา Digoxin และ Insulin ที่บุรุษพยาบาลฉีดเข้าไปในถุงน้ำเกลือของผู้ป่วยนั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก https://www.playinone.com/folkplay/the-good-nurse-review-netflix/

มาทำความรู้จักยา Digoxin และ insulin กันดีกว่า

ขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Digitalis

Digoxin(ดิจอกซิน) เป็นยาที่เป็นสารในกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์(Cardiac glycosides) ที่ใช้ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจในภาวะ supraventicular tachycardia และรักษาภาวะหัวใจวาย สารอื่นๆ ในกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์Cardiac glycosides) ที่มีฤทธิ์คล้ายคลึงกันได้แก่ ดิจิทอกซิน (digitoxin) ยี่โถ (yellow oleander, Nerium spp.) คางคก (Bufo toads) เป็นต้น

กลไกการออกฤทธิ์หลักของสารกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycosides)ได้แก่ การยังยั้งการทำงานของ sodium-potassiumadenosine triphosphate (Na+/K+-ATPase) pumps ซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกาย แต่ส่วนที่ทำให้เกิดผลที่สำคัญได้แก่ Na+/K+-ATPase ที่กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่ง Na+/K+-ATPase ทำหน้าที่รักษาศักย์ไฟฟ้า (membrane potential) ของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจโดยนำโซเดียมออกจากเซลล์และโพแทสเซียมเข้าเซลล์ การยับยั้ง Na+/K+-ATPase ทำให้ระดับโซเดียมในเซลล์สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้แคลเซียมในเซลล์สูงขึ้นผ่านกลไกตัวแลกเปลี่ยนโซเดียม-แคลเซียม (sodium calcium exchanger)ของเซลล์ ผลที่ตามมาโดยรวมมีดังนี้

    1. กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลที่ใช้ในการรักษาภาวะหัวใจวาย
    2. การนำกระแสผ่าน AV node น้อยลง ซึ่งเป็นผลที่ใช้ในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจในภาวะ supraventicular tachycardia และเมื่อเกิดภาวะพิษการยับยั้งการนำไฟฟ้านี้ทำให้เกิด heart block
    3. การที่กล้ามเนื้อหัวใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วน ventricle ไวต่อการกระตุ้นมากขึ้นทำให้เกิดการทำงานได้เอง (automaticity) หรือการถูกกระตุ้นง่ายขึ้น (excitability) ซึ่งทำให้เกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติหลายชนิด เช่น ectopic beats, prematureventricularcontraction(PVC), bigeminy, ventricular tachycardia และ fibrillation และ bidirectional ventricular tachycardia
    4. ภาวะโพแทสเซียมสูงในเลือด (hyperkalemia)จากการที่โพแทสเซียมเข้าสู่เซลล์ไม่ได้

ขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Insulin_(medication)

ส่วน Insulin(อินซูลิน) นั้นเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นเองได้ในตับอ่อน หน้าที่ของอินซูลินคือการรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดโดยทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลง ภาวะใดก็ตามที่กระตุ้นระบบประสาทชนิด sympathetic เช่น hypoxia, hypoglycemia, exercise, surgery, burn จะทำให้เกิดการลดระดับของการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนลง โดยผ่านการกระตุ้นของ alpha-2 adrenergic receptors ส่งผลให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้น ในทางตรงข้ามเมื่อมีระดับของกลูโคสในเลือดสูงขึ้นจะมีการกระตุ้นการหลั่งของอินซูลินทำให้ระดับของน้ำตาลลดลงในเวลาต่อมา อินซูลินจึงได้ถูกนำมาผลิตเป็นยาใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน เพื่อคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถผลิตอินซูลินเองได้

นอกจากนี้อินซูลินยังจัดเป็นฮอร์โมนที่สำคัญที่สุดในการรักษาและควบคุมระดับโพแทสเซียม เมื่อระดับของโพแทสเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยจะสามารถกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้นได้อินซูลินสามารถกระตุ้น Na+/K+-ATPase บนเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะที่เซลล์ตับ เซลล์กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน ส่งผลให้มีการเก็บโพแทสเซียมเข้าสู่เซลล์มากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะโพแทสเซียมในเลือดมากเกิน ร่วมกับตับจะมีการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (glucagon) มากขึ้นเพื่อช่วยป้องกันภาวะ insulin-induced hypoglycemia

อินซูลินในท้องตลาดมีหลายแบบ หากแบ่งตามระยะเวลาการออกฤทธิ์จะแบ่งได้เป็นชนิดที่ออกฤทธิ์เร็ว/สั้น (rapid/short), ออกฤทธิ์เร็วปานกลาง (intermediate) และออกฤทธิ์ช้า (slow)

ภาวะ Digoxin intoxication คืออะไร

Digoxin intoxication คือ การเกิดพิษจากยา Digoxin(ดิจอกซิน) เนื่องจากยา Digoxin(ดิจอกซิน) มีช่วงระดับยาระหว่างการรักษาและการเกิดพิษที่แคบ ทำให้มีอุบัติการณ์ของการเกิดพิษและการเสียชีวิตสูง

จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเกิดภาวะพิษจาก Digoxin(ดิจอกซิน) ประมาณ 7-20%

และในผู้ป่วยจำนวนนี้เสียชีวิตสูงถึง 40%

การตรวจวัดระดับยาในเลือดมีส่วนสำคัญในการช่วยวินิจฉัยและป้องกันการเกิดพิษจาก Digoxin(ดิจอกซิน) รวมถึงควรมีการประเมินอาการและอาการแสดงทางคลินิกของผู้ป่วยร่วมด้วย

ลักษณะการเกิดภาวะพิษ แบ่งออกได้เป็น 2 แบบได้แก่

  1. ภาวะพิษแบบเฉียบพลัน ซึ่งเกิดในผู้ที่ไม่เคยได้รับยาDigoxin(ดิจอกซิน)อยู่เดิม หรือได้รับยาDigoxin(ดิจอกซิน)หรือคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ในปริมาณมากจนเกิดภาวะพิษ ขนาด Digoxin(ดิจอกซิน)ที่อาจทำให้เกิดภาวะพิษเฉียบพลันในผู้ใหญ่ได้แก่ขนาดอย่างน้อย 1 มิลลิกรัม
  2. ภาวะพิษแบบเรื้อรัง หมายถึง ภาวะพิษจากDigoxin(ดิจอกซิน)ในผู้ที่ได้รับยาDigoxin(ดิจอกซิน)อยู่เดิม ภาวะนี้อาจเกิดจากการมีระดับยาDigoxin(ดิจอกซิน)ในร่างกายสูงกว่าเดิมหรือเกิดจากการที่ร่างกายมีความไวต่อฤทธิ์ของดิจอกซินมากขึ้น ภาวะพิษDigoxin(ดิจอกซิน)แบบเรื้อรังนี้พบได้บ่อยในทางคลินิก ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะพิษDigoxin(ดิจอกซิน)แบบเรื้อรังได้แก่
    • การมีภาวะไตวายซึ่งทำให้การขับถ่ายDigoxin(ดิจอกซิน)ลดลงและระดับDigoxin(ดิจอกซิน) ในร่างกายเพิ่มขึ้น
    • การเปลี่ยนแปลงอิเลคโตรไลท์ในร่างกาย ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) และ/หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (hypomagnesemia) ซึ่งทำให้หัวใจมีความไวต่อฤทธิ์ยาDigoxin(ดิจอกซิน)มาก ขึ้นจนเกิดภาวะพิษ ภาวะเหล่านี้มักพบในผู้ป่วยที่ได้รับยาขับปัสสาวะ เช่น furosemide หรือ thiazide ร่วมกับDigoxin(ดิจอกซิน) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอิเลคโตรลัยต์เกิดเป็นผลข้างเคียงของยาเหล่านี้นอกจากนี้ยังอาจพบในผู้ป่วยที่ได้Digoxin(ดิจอกซิน)และเกิดเจ็บป่วยจนรับประทานไม่ได้หรือมีภาวะอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย
    • การทำปฏิกิริยากับยาอื่นๆ เช่น amiodarone verapamil quinidine cyclosporine ยาต้านจุลชีพกลุ่ม macrolideเช่น erythromycin และclarythromycin ที่ทำให้ร่างกายมีระดับยาดิจอกซินเพิ่มขึ้น

ลักษณะอาการของภาวะพิษจากคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycosides) ประกอบด้วยอาการและอาการแสดงในหลายระบบ ได้แก่

    1. ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก (ประมาณร้อยละ80ของผู้ป่วย)
    2. ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น อาการซึม สับสน (confusion and delirium) การมองเห็นไม่ชัดเจนภาพมัว มีสีเปลี่ยนแปลง หรือเห็นเป็นจุดเป็นดวง
    3. ระบบหัวใจและไหลเวียน เช่น Bradyarrhythmias : AV blocks (1st, 2nd, 3rd degree), atrial fibrillation with slow ventricular response(<60/minute), Tachyarrrhythmias : ventricular ectopic beats, bigeminy, supraventricular tachycardia with AV block, ventricular tachycardia, ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม
    4. ระบบไตและอิเลคโตรไลท์ เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (hyperkalemia)

Paroxysmal atrial tachycardia with block

แล้ว Insulin เกี่ยวข้องอย่างไรกับ Digoxin

จากข้อมูลกล่าวไปแล้วข้างต้น เกี่ยวกับอาการของภาวะพิษของ Digoxin(ดิจอกซิน) ซึ่งนำไปสู่การรักษาภาวะดังกล่าว โดยหากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ และการเปลี่ยนแปลงความรู้สติในผู้ที่ได้รับดิจอกซินแบบเฉียบพลันอาจพิจารณาทำการรักษาด้วยการล้างท้องหรือการบริหารผงถ่านตามความเหมาะสม ผู้ป่วยที่มีระดับโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในซีรั่มต่ำควรได้รับการรักษาด้วยการทดแทนโพแทสเซียมและแมกนีเซียมจนได้ระดับปกติซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ในผู้ป่วยภาวะพิษเรื้อรังที่ระดับดิจอกซินไม่สูง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะโพแทสเซียมในซีรั่มสูงควรได้รับการรักษาด้วย glucose, insulin และ sodium bicarbonate ทางหลอดเลือดดำ การบริหาร calcium gluconate ทางหลอดเลือดดำควรเป็นการรักษาที่พิจารณาหลังจากการรักษาด้วย glucose, insulin, sodium bicarbonate แล้วไม่ได้ผล (คลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่เปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น) เท่านั้น

ภาพแสดงการเคลื่อนย้ายโพแทสเซียมเข้า-ออกเซลล์

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Insulin(อินซูลิน) นอกจากสามารถใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานแล้ว ยังนำมารักษาภาวะพิษจาก Digoxin(ดิจอกซิน) ในผู้ป่วยที่มีโพแทสเซียมในซีรั่มสูงได้อีกด้วย (โดยอาศัยกลไกที่ Insulin ออกฤทธิ์ดึงโพแตสเซียมเข้าสู่เซลล์) แต่อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังและติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหากเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ และเกลือโปแตสเซี่ยมต่ำ ทั้งสองภาวะดังกล่าวเองอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะ cardiac arrest ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : Comprehensive review in internal medicine, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, Srinagarind Medical Journal Faculty of Medicine, Khon Kaen University

Facebook Comments

You may also like