ช่วงนี้เห็นหลายรพ.ประกาศรับบริจาคเลือด เนื่องจากคลังเลือดกลางของโรงพยาบาลหลายแห่ง กำลังขาดแคลนเลือดสำรอง ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโควิด-19 ดังนั้นหลายคนอาจไปบริจาคเลือดกันมา ซึ่งหลังจากบริจาคเลือด แพทย์มักจะสั่งยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็กให้กลับมารับประทานที่บ้าน แต่หลังจากรับประทานแล้ว บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมาได้ จึงเกิดความกังวลและสงสัยว่าควรหยุดยาหรือรับประทานต่อดี วันนี้ทีมงานอยู่กับยาจะมาไขข้อสงสัยให้ได้ทราบกันค่ะ
ยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก คืออะไร
เฟอร์รัส (Ferrous) หรือ ยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็กเป็นยาที่ช่วยเสริมธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการอยู่เป็นประจ า เพื่อช่วยให้เม็ดเลือดแดงสามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดีขึ้น
ดังนั้นเฟอร์รัสจึงมีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดเหล็กหรือรับประทานเสริมอาหารเพื่อช่วยผลิตเม็ดเลือดแดงในบุคคลที่สูญเสียเลือดมาก โดยความต้องการปริมาณธาตุเหล็กต่อวันมีความแตกต่างกันตามอายุ เพศ และภาวะของแต่ละบุคคล
ยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก ควรรับประทานเวลาไหนดีที่สุด
ควรรับประทานยานี้ขณะท้องว่าง คือก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ดังนั้น แพทย์จึงมักสั่งให้รับประทานยาเวลาก่อนนอน เนื่องจากเป็นช่วงที่ท้องว่าง และช่วยเพิ่มการดูดซึมของยานั่นเองค่ะ
แต่อย่างไรก็ตามยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่น ท้องผูก ท้องร่วง ระคายเคืองทางเดินอาหารคลื่นไส้หรือปวดบริเวณลิ้นปี่ นอกจากนี้ยังอาจทำให้อุจจาระมีสีดําหรือคล้ำขึ้นได้
หากรับประทานยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็กแล้วคลื่นไส้อาเจียนควรทำอย่างไร
หากรับประทานยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็กแล้ว บางคนอาจมีอาการปวดมวนท้องหรือคลื่นไส้อาเจียน ให้เปลี่ยนเป็นกินยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที เพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว
แต่หากรับประทานแล้ว มีอาการหายใจลําบาก ผื่นขึ้น หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก คัน บวมบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก ผิวหนัง ริมฝีปาก เล็บและฝ่ามือเป็นสีเขียวหรือฟ้า หรือมีอาเจียนรุนแรง มีไข้ เซื่องซึม ผิวหนังซีดหรือเย็น ชัก หัวใจเต้นไม่สม่ําเสมอ ในผู้หญิงหากมีประจําเดือนผิดปกติ เช่นมีเลือดออกมาก เลือดออกกะปริดกะปรอย หรือมีเลือดออกระหว่างรอบเดือน ให้หยุดยาทันทีแล้วรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดการแพ้ยา หรือเป็นพิษจากยาได้ค่ะ
ไม่ควร รับประทานยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก ร่วมกับอะไร
- ไม่ควรรับประทานพร้อมเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสมอยู่ เช่น ชาหรือกาแฟ เนื่องจากจะไปลดการดูดซึมของเหล็ก
- นอกจากนี้ยาที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม, แคลเซียม หรือแมกนีเซียม ก็สามารถลดการดูดซึมของธาตุเหล็กลงได้ถึง 30-40% เนื่องจากแคลเซียม คาร์บอเนต (Calcium carbonate) จะไปเพิ่มความเป็นด่างในกระเพาะอาหาร โดยเกลือ Carbonate ของ Calcium จะไปจับกับ Ferrous ได้เป็นสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้การดูดซึมของธาตุเหล็กลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของของแคลเซียมหรือเกลือแร่อื่นที่รับประทานเข้าไปพร้อมกัน ถ้ารับประทานในปริมาณไม่มากอาจมีผลลดการดูดซึมธาตุเหล็กไม่มากนัก
ดังนั้นหากช่วงนี้ใครที่ไปบริจาคเลือดแล้วได้ยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็กมารับประทานแล้วมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออุจจาระมีสีดำหรือคล้ำไปจากเดิม ไม่จำเป็นต้องหยุดยาเองนะคะ เพราะเป็นอาการข้างเคียงจากยาเท่านั้น หากแพทย์สั่งจ่ายยาให้รับประทานต่อเนื่อง แนะนำให้รับประทานยาตามแพทย์สั่งดีที่สุดค่ะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล, คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา