โรคกระเพาะอาหาร เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตของทุกเพศ ทุกวัย โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องกลางท้องช่วงบน ลักษณะการปวดคือรู้สึกปวดแน่น หรือแสบร้อนสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น หลังรับประทานอาหารอาการปวดท้องจะดีขึ้นหรือแย่ลง บางคนมีอาการอิ่มง่าย อิ่มเร็ว
ระยะเวลาของการปวดอาจเป็นวันหรือเป็นเดือน หรือมีลักษณะเป็นๆหายๆ ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่ถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกที่กระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหารทะลุ, กระเพาะอาหารอุดตัน, มะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยก็อาจเสียชีวิตได้
โรคกระเพาะอาหาร สามารถเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
โรคกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้หลายสาเหตุ ดังนี้
- การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (H. Pylori)
- รับประทานยาแก้ปวดชนิดที่กัดกระเพาะอาหาร
- รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ความเครียด
- รับประทานอาหารรสเผ็ด
- รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
และสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด นั่นคือ การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (H. Pylori) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะอาศัยอยู่ภายในระบบทางเดินอาหาร ติดต่อระหว่างคนสู่คน เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดการอักเสบ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางราย เชื้ออาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย
ยาที่ใช้ในการรักษา แผลในกระเพาะอาหารที่ติดเชื้อ H. Pylori
ปัจจุบันสูตรยากำจัดเชื้อ H. pylori มีด้วยกันมากมายหลายสูตร อ้างอิงจากข้อมูล วารสารวงการแพทย์ สรุปได้ดังนี้
- Standard triple therapy ใช้ยา PPI bid +amoxicillin 1 gm bid (or metronidazole) + clarithromycin 500 mg bid โดยรับประทานต่อเนื่องกัน 7-14 วัน
- Sequential therapy ใช้ยา PPI bid + amoxicillin 5-7 วันแรก แล้วตามด้วย PPI bid + clarithromycin (or levofloxacin*) + metronidazole (or tinidazole) 500 mg bid อีก 5-7 วัน
- Concomitant therapy ใช้ยา PPI bid + amoxicillin + clarithromycin (or levofloxacin*) + metronidazole (or tinidazole) 500 mg bid ติดต่อกัน 10-14 วัน
- Bismuth-quadruple therapy ใช้ยา PPI bid + bismuth salt qid + metronidazole 250 mg tid or 500 mg qid + tetracycline 500 mg qid ติดต่อกัน 10-14 วัน
- Hybrid therapy เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการดื้อยาสูงทั้ง clarithromycin และ metronidazole โดยใช้ยา PPI bid + amoxicillin 7 วันแรก ตามด้วย PPI bid + amoxicillin 1 gm bid + clarithromycin + metronidazole (or tinidazole) 500 mg bid อีก 7 วัน
- Levofloxacin triple therapy ใช้ยา PPI bid + amoxicillin 1 gm bid + levofloxacin 500-1,000 mg OD ติดต่อกัน 10-14 วัน
(*หมายเหตุ เลือกใช้ levofloxacin ในพื้นที่ที่มีการดื้อยา clarithromycin สูงเกินร้อยละ 20)
จากการศึกษา พบว่า หากรับประทานยาสูตร standard triple therapy เป็นระยะเวลา 10-14 วันติดต่อกัน ให้ผลการกำจัดเชื้อได้ดีกว่าการรับประทานยาเพียง 7 วัน นอกจากนี้ สูตรยา standard triple therapy มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับสูตรยา bismuth-quadruple therapy
สำหรับสูตรยาแบบ sequential therapy นั้น พบว่ามีประสิทธิภาพดีกว่า standard triple therapy ที่รับประทานเพียง 7 วัน แต่มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับ standard triple therapy ที่รับประทานยานาน 10-14 วัน และดีเทียบเท่ากับสูตร concomitant therapy เป็นต้น
ปัจจุบัน FDA อนุมัติให้ Talicia เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารที่ติดเชื้อ H. Pylori
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 62 ที่ผ่านมา FDA ได้อนุมัติให้ยา Talicia ผลิตโดยบริษัท RedHill Biopharma Ltd. ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศอิสราเอล
Talicia เป็นยาสูตรผสมระหว่าง amoxicillin 250 mg , omeprazole (PPI) 10 mg และ rifabutin 12.5 mg เพื่อใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารที่ติดเชื้อ H. Pylori ในผู้ใหญ่ รูปแบบยาเป็น Delayed-Release Capsules คือ จะไม่มีการปลดปล่อยยาออกมาทันทีหลังรับประทานยา แต่จะปลดปล่อยยาภายหลังจากที่รับประทานยาไปได้ระยะเวลาหนึ่ง โดยรับประทานครั้งละ 4 แคปซูล ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน ไม่ควรเคี้ยวเม็ดยาหรือรับประทานยานี้ร่วมกับแอลกอฮอล์
สำหรับอาการข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยานี้ ยกตัวอย่างเช่น คลื่นไส้อาเจียน, ปวดศีรษะ, ปวดท้องและมีผื่นคัน เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันยานี้ยังไม่มีจำหน่ายในไทยนะคะ แต่คาดว่าจะวางจำหน่ายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาต้นปี 2020 นี้ ส่วนราคาจะสูงขนาดไหน ต้องติดตามค่ะ ซึ่งหากมองข้อดีของยาตัวนี้ อาจจะช่วยลดปัญหาเรื่องความไม่ร่วมมือในการรับประทานยาของผู้ป่วยลงได้ด้วย เพราะผู้ป่วยต้องทานยาหลายชนิดพร้อมกันแต่ก็ต้องทาน 4 เม็ดพร้อมกัน ข้อเสียอาจจะมีข้อจำกัดหากต้องปรับขนาดยา และหากมีอาการแพ้ยาอาจทำให้ยากต่อการประเมิน แต่อย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นยาที่ดีและน่าจับตามองอีกชนิดหนึ่ง สำหรับผู้ป่วยแผลในกระเพาะอาหารที่ติดเชื้อ H. Pylori
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : www.drugs.com, https://www.redhillbio.com/, https://www.aafp.org/