“เบาหวาน” จัดเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs (non-communicable diseases) หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตในคนไทย ที่มีอัตราการเกิดสูงขึ้นทุกปี
นอกจากโรคเบาหวานจะพบในวัยผู้ใหญ่แล้ว ยังสามารถพบในเด็กและวัยรุ่นได้อีกด้วย ซึ่งสาเหตุมีทั้งการถูกทำลายของเซลล์ตับอ่อนที่เรียกว่า “บีต้าเซลล์” หรือภาวะโภชนาการเกินและขาดการออกกำลังกาย
มาทำความรู้จักโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นกันก่อนดีกว่า
เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นหรือ diabetes in youth แบ่งเป็น 2 ประเภทที่พบบ่อยคือ
- เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานตนเองมาทำลายเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินในร่างกายได้ ผู้ป่วยจึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โรคนี้เกิดได้ในเด็กตั้งแต่อายุน้อย ส่วนมากมักไม่อ้วน ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดนี้
- เบาหวานชนิดที่ 2 กลไกเกิดจากการที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ร่วมกับตับอ่อนบกพร่องในการหลั่งอินซูลิน ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ป่วยที่เข้าวัยรุ่นแล้ว โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ ภาวะอ้วน ปัจจัยทางพันธุกรรม อายุที่มากขึ้น เชื้อชาติ และประวัติการคลอดที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยหรือมากกว่าปกติ
ปัจจุบันวัฒนธรรมในการกินเปลี่ยนไปมาก เช่น การนิยมรับประทานอาหาร Fast Food ร่วมกับเด็กใช้เวลาไปกับมือถือมากขึ้น ทำให้ขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้เด็กไทยเป็นโรคอ้วน และเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น
การรักษาโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น
- เบาหวานชนิดที่ 1 ปัจจุบันมีเพียงการรักษาเดียวคือ การฉีดยาอินซูลิน ควบคู่กับการรับประทานอาหารให้เป็นสัดส่วนที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของผู้ป่วย ร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- เบาหวานชนิดที่ 2 การรักษามีทั้งกินยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด หากไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาฉีดยาอินซูลินเพิ่มเติม ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการกินอาหารและออกกำลังอย่างเหมาะสม
FDA อนุมัติให้ยา Liraglutide(Victoza®)ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กและวัยรุ่น
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา FDA หรือองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติให้ Liraglutide (Victoza) เป็นยาฉีด Non-insulin ตัวแรก ที่ใช้รักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กที่อายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จากเดิมที่มีเฉพาะยากิน Metformin และยาฉีดอินซูลินในการรักษาเท่านั้น
Liraglutide(Victoza®) กับการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กและวัยรุ่น
มีการศึกษาของ ELLIPSE ถึงการใช้ Liraglutide(Victoza®) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม glucagon-like peptide-1 (GLP-1) receptor agonists ร่วมกับการควบคุมอาหาร, ออกกำลังกาย และกินยา Metformin/ฉีดอินซูลิน ในเด็กที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีอายุระหว่าง 10-17 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก พบว่า
กลุ่มที่ฉีด Liraglutide(Victoza®) มี HbA1c < 7 เท่ากับ 64% เทียบกับกลุ่มที่ได้ Placebo มี HbA1c < 7 เพียงแค่ 38% ซึ่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบการรายงานได้บ่อยจากการใช้ยา Liraglutide(Victoza®)ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และท้องเสีย รวมถึงปฏิกิริยาคล้ายอาการแพ้ เช่น ผื่นลมพิษ เป็นต้น
ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Liraglutide(Victoza®)ทำให้เกิดเนื้องอกที่ต่อมธัยรอยด์หรือ medullary thyroid cancer ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยา Liraglutide(Victoza®)ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิด medullary thyroid cancer อยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ หรือ ผู้ที่มีภาวะของพันธุกรรมบางอย่าง เช่น Multiple Endocrine Neoplasia syndrome type 2 เป็นต้น
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : FDA, Medscape, คณะเภสัชศาสตร์ ม. มหิดล