7 อันดับวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยอดนิยม ควรรับประทานเวลาไหนดี?

โดย Boontharika Boonchaisaen

เภสัชกรมักจะแนะนำวิธีรับประทานยาที่เหมาะสมว่า ตัวไหนควรรับประทานเวลาไหนดี แต่อาจยังไม่ได้เน้นเรื่องเวลาของการรับประทานวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่าใดนัก ทำให้ผู้ป่วยบางรายหรือคนทั่วไปอาจยังสงสัยว่าเวลาไหนที่เหมาะสมในการรับประทานวิตามินแต่ละชนิด วันนี้ทีมงานจะมาไขข้อข้องใจให้ได้ทราบกันค่ะ

ทำความเข้าใจ ความหมายของวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก่อนดีกว่า

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร(Dietary supplements หรือ Food supplements หรือ Nutritional supplements) ในทางเภสัชกรรม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ โดยจะมีส่วนประกอบของสารอาหาร และอาจมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เอนไซม์ หรือ ใยอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นต่างจากยา (Drugs) จึงไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค

ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้แบ่งออกเป็นหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น วิตามิน, แร่ธาตุหรือเกลือแร่, กรดอะมิโน, กรดไขมัน, สมุนไพรและสารสกัดจากพืช หรือสารสกัดจากสัตว์ เป็นต้น

7 อันดับวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยอดนิยม ควรรับประทานเวลาไหนดี?

วิตามินหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปัจจุบันมีวางจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ ทั้งที่มีคุณภาพได้รับรองมาตรฐานจากอย. และทั้งที่ไม่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินให้ได้คุณภาพหรือมีประโยชน์มากที่สุด ยังต้องรับประทานในเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. แคลเซียม ควรรับประทานก่อนอาหารเช้า หรือพร้อมอาหารเย็น เพราะจะช่วยเพิ่มการดูดซึม และลดการเกิดนิ่วในไตได้อีกด้วย นอกจากนี้ การรับประทานในขนาดที่ต่ำ จะดูดซึมได้ดีกว่าขนาดสูง ถ้าเป็นไปได้ ควรรับประทานแคลเซียม ให้ห่างจากสังกะสีและธาตุเหล็ก เนื่องจากจะช่วยให้สารคีเลตอาจจับกับประจุบวกของสังกะสีและธาตุเหล็กทำให้คุณสมบัติของแคลเซียมเปลี่ยนไป
  2. เหล็ก ควรรับประทานตอนท้องว่างดีที่สุด หรืออาจรับประทานก่อนอาหารพร้อมกับดื่มน้ำส้มเพราะวิตามินซีจากน้ำส้มจะช่วยเพิ่มการดูดซึมของเหล็กได้ และไม่ควรรับประทานพร้อมเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสมอยู่ เช่น ชาหรือกาแฟ เนื่องจากจะไปลดการดูดซึมของเหล็ก นอกจากนี้เพื่อป้องกันท้องผูกซึ่งเป็นอาการข้างเคียงจากเหล็ก อาจหลีกเลี่ยงการรับประทานเหล็กในรูปแบบเฟอร์รัสซัลเฟต (ferrous sulfate) และควรดื่มน้ำตามมากๆ
  3. วิตามินดี ควรรับประทานพร้อมอาหารประเภทไขมันเช่นเดียวกับวิตามินละลายในไขมันตัวอื่นคือ เอ, อีและเค เพราะไขมันในอาหารจะช่วยเพิ่มการดูดซึม และพบบางการศึกษาแนะนำว่าควรรับประทานพร้อมอาหารมื้อเย็น เนื่องจากโดยปกติอาหารมื้อเย็นเป็นอาหารมื้อที่หนักที่สุด เพราะจะช่วยเพิ่มระดับวิตามินในเลือดถึง 50% แต่ไม่ควรรับประทานร่วมกับอาหารมื้อดึก เพราะวิตามินดีจะไปรบกวนการสร้างเมลาโตนินในร่างกาย และส่งผลถึงการนอนหลับได้
  4. วิตามินบีรวม เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ซึ่งต่างจากวิตามินที่ละลายในไขมัน และช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ควรรับประทานก่อนอาหารหรือตอนท้องว่าง แต่หากบางคนอาจรู้สึกไม่สบายท้อง แนะนำให้รับประทานอาหารก่อนรับประทานวิตามินบีรวมเล็กน้อยได้
  5. วิตามินซี ควรรับประทานพร้อมอาหารเช้าหรือเที่ยง และแบ่งรับประทานเช่นวันละ 2 ครั้ง เพื่อให้คงระดับวิตามินในเลือดให้อยู่ตลอดวัน และช่วยป้องกันไม่ให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารหากต้องการปริมาณวิตามินซีในปริมาณมากเช่น 1000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นต้น และวิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม แต่อาจลดการดูดซึมของวิตามินบี 12 ดังนั้นหากจำเป็นต้องรับประทานวิตามินบี 12 ควรรับประทานให้ห่างกัน
  6. น้ำมันปลา อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน หรืออาหารไม่ย่อยได้ ดังนั้น ควรรับประทานพร้อมอาหารมื้อเช้าหรือเที่ยง และควรเป็นอาหารประเภทไขมันเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึม นอกจากนี้เพื่อป้องกันอาหารไม่ย่อย ควรแบ่งรับประทานเช่นวันละ 2 ครั้ง แต่ไม่ควรรับประทานก่อนออกกำลังกายหรือก่อนนอน เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ หรือไม่ควรรับประทานร่วมกับยาที่ต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น ยาวาร์ฟาริน เป็นต้น
  7. โปรไบโอติกส์ ควรรับประทานก่อนอาหารครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง หรือพร้อมอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานหลังอาหาร และควรเลือกรับประทานโปรไบโอติกส์ที่มีหลายชนิด โดยเฉพาะชนิด L. acidophilus, B. Longum, B. bifidum, L. rhamnosus, และ L. fermentum เป็นต้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าเวลามีผลต่อประสิทธิภาพในการรับประทานวิตามิน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้น การรับประทานวิตามินในเวลาที่เหมาะสม สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวิตามินได้ แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ปลอดภัย ยังต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้นะคะ

แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : The Best Time Of Day To Take 7 Popular Supplements

Facebook Comments

You may also like