ย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วสมัยยังเป็นนักศึกษาเภสัช แอดมินได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น และรู้สึกประทับใจทั้งผู้คน สถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของประเทศนี้มาก และวันนี้ก็ได้มีโอกาสกลับไปญี่ปุ่นอีกครั้ง จึงไม่พลาดที่จะนำรูปภาพและเรื่องน่ารู้ที่น่ารักของร้านยาในญี่ปุ่นมาฝากเพื่อนๆกันค่ะ
4 เรื่องน่ารู้ของร้านยาในญี่ปุ่น
- ร้านยาในญี่ปุ่นมีกี่ประเภท หากสังเกตร้านยาที่เจอในญี่ปุ่นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ
1.1 ร้านยาที่ขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งช็อปปิ้ง เช่น ย่านโดทมโบริ หรือตามสถานีรถไฟ โดยหน้าร้านจะมีสัญลักษณ์ 薬 แบบนี้อยู่ที่ป้าย ช่วยให้สังเกตกันได้ง่ายๆค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ร้านมัตสึโมโตะคิโยะฉิ (Matsumoto Kiyoshi ), Kokumin Drug เป็นต้น
ร้านยาประเภทนี้จะเน้นขายเครื่องสำอาง หรือเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่ยาสระผม แปรงสีฟัน ยาสีฟันหรือแม้แต่ผ้าอนามัย เป็นร้านยาที่สาวๆส่วนใหญ่ชอบเข้ามากเป็นพิเศษ และมักจะมีรีวิวไอเท็มดีๆให้หิ้วกลับไทยอยู่เสมอ ซึ่งยาที่ขายจะเป็นยาทั่วไปหรือที่บ้านเราเรียกว่า ยาสามัญประจำบ้านเช่น ยาลดไข้ ส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นยาสูตรผสม และมีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษาในส่วนของยาอันตรายหรือยาที่เป็น First class OTC drugs เหมือนในประเทศไทย
1.2 ร้านยาที่ขายยาโดยต้องมีใบสั่งแพทย์ เนื่องจากระบบการจ่ายยาของประเทศญี่ปุ่นจะต่างกับไทย คือไม่มีการจ่ายยาโดยเภสัชกรที่ห้องยาในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยต้องถือใบสั่งยาจากแพทย์ไปยื่นรับยาจากเภสัชกรที่ร้านยา หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า เภสัชกรชุมชน ซึ่งมักจะตั้งอยู่ใกล้ๆคลินิกหรือโรงพยาบาล โดยที่หน้าร้านจะมีสัญลักษณ์ 薬,くすり บ่งบอกว่าคือร้านขายยา ซึ่งในไทยมักใช้เป็นเครื่องหมายกาชาด เน้นขายยาอันตรายเป็นส่วนใหญ่เช่นยาฆ่าเชื้อต่างๆ หรือยาที่มีส่วนประกอบที่ต้องได้รับคำแนะนำพิเศษจากเภสัชกร (First class OTC drugs)
2. ประเภทของยาที่ขายในร้านยาประเทศญี่ปุ่น ประเภทของยาที่ญี่ปุ่นจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
2.1 First class OTC drugs เป็นยาที่มีส่วนผสมที่ต้องให้ความระมัดระวังในการใช้ หรือมีข้อควรระวังพิเศษ และต้องได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ยาในกลุ่ม H2-receptor
antagonists และยา Minoxidil เป็นต้น
2.2 Second class OTC drugs เป็นยาที่มีส่วนผสมที่มีรายงานการเกิดปัญหาจากใช้ยา เช่นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากได้รับยาเป็นจำนวนน้อย ยกตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวดลดไข้, ยาแก้หวัด, หรือยาเกี่ยวกับระบบทางเดินทางอาหาร เป็นต้น
2.3 Third class OTC drugs เป็นยาที่มีส่วนผสม ที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น วิตามินต่างๆ
3. รู้ได้อย่างไร ว่าคนไหนเป็นเภสัชกรหรือผู้ช่วยขายยา เวลาเข้าไปในร้านยา
หลายคนอาจแยกไม่ออกว่าใครกันนะคือเภสัชกร เพราะแต่งตัวคล้ายๆกันไปหมด และป้ายที่ห้อยก็ไม่ใช่ภาษาไทยเสียด้วย แต่ถ้าสังเกตดีๆในร้านยาจะมีป้ายบอกจุดสังเกตระหว่างเภสัชกรกับผู้ช่วยขายยาให้เราทราบด้วยนะคะ คือ ดูสีป้ายห้อยชุด ถ้าเป็นสีขาวนั่นคือ เภสัชกร แต่ถ้าเป็นป้ายสีเขียว นั่นคือ ผู้ช่วยขายยา (ดังภาพด้านล่าง)
ซึ่งผู้ช่วยขายยาต้องผ่านการอบรมมาเรียบร้อยแล้ว แต่สามารถขายหรือแนะนำได้เพียงยา Second class OTC drugs หรือ Third class OTC drugs เท่านั้นค่ะ และที่สำคัญร้านยาในญี่ปุ่นจะมีป้ายใบประกอบวิชาชีพของเภสัชกรแสดงไว้เช่นเดียวกันกับประเทศไทย สามารถดูได้ว่าร้านไหนที่มีเภสัชกรประจำอยู่
4. เมื่อร้านยามีแต่ภาษาญี่ปุ่น จะเลือกซื้อยาได้อย่างไร
ปัญหาที่น่าจะเกิดกับหลายๆคนเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเกิดป่วยกะทันหัน เดินเข้าร่านยาแต่ไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อยาอะไรดี แนะนำแอปพลิเคชัน Payke-making shopping ช่วยคุณได้ค่ะ
แอปพลิเคชัน Payke-making shopping เป็นแอปที่ช่วยให้ทราบรายละเอียดของยาที่เป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างคร่าวๆ เพียงถ่ายรูปสแกนที่บาร์โค้ดของยาหรือสินค้าแต่ละตัวเท่านั้นเอง นอกจากยาแล้ว แอปนี้ยังใช้กับอาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและของที่ระลึก ได้อีกด้วย
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นกันนะคะ เพราะการเดินทางมักมาพร้อมเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ดังนั้น ควรเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อนไปเที่ยวจะดีกว่าค่ะ
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง ข้อควรรู้การฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ที่นี่
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : https://www.jeducation.com/, https://www.nippon.com