ข้อควรรู้เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนไปญี่ปุ่น

โดย Boontharika Boonchaisaen

แอดมินมีโปรแกรมจะไปเที่ยวญี่ปุ่นในอีกไม่กี่วัน แต่เพิ่งทราบข้อมูลจากเพจหมอแล็บแพนด้าว่า ช่วงนี้โรคหัดเยอรมันกำลังระบาดในประเทศญี่ปุ่น จึงไปสืบค้นข้อมูลของกรมควบคุมโรคจึงทราบว่า

มีประกาศจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12  พ.ย. 61 ที่ผ่านมา แจ้งเตือนประชาชน..

เนื่องจากขณะนี้เกิดโรคหัดเยอรมัน ระบาดในประเทศญี่ปุ่นเตือนประชาชนที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันหรือไม่เคยป่วยเป็น โรคหัดเยอรมัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่จะเดินทางในช่วงนี้

มาทำความรู้จักโรคหัดเยอรมันกันก่อนดีกว่า

มีสาเหตุมาจากเชื้อ Rubella Virus เป็นโรคที่พบในมนุษย์เท่านั้น มีระยะฟักตัวประมาณ 14-21 วัน ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการรุนแรง

อาการนำของโรคหัดเยอรมันได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย มีไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะตามลำคอ หลังใบหู หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ จะเกิดผื่นเป็นเม็ดละเอียดสีชมพู ซึางจะปรากฎที่ใบหน้าและลำคอก่อน ไล่ลงมาตามลำตัวและแขนขา อาการจะหายภายใน 3 วัน

วัคซีนป้องกันหัดเยอรมันคืออะไร

วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน โดยประมาณร้อยละ 95 ของผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด พบว่ามีภูมิคุ้มกันโรคหลังจากได้รับวัคซีนครั้งแรกประมาณ 2 สัปดาห์

ปัจจุบันประเทศไทยใช้ วัคซีนรวม MMR (Mump-Measles-Rubella) ป้องกันได้ทั้งหัด หัดเยอรมัน และคางทูม แทนวัคซีนหัดเยอรมันอย่างเดียว ซึ่งวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live attenuated vaccine) จึงไม่ควรให้ในบุคคลต่อไปนี้  เช่น สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ HIV เป็นโรคมะเร็ง ได้รับยาสเตียรอยด์ ยา Chemotherapy ยากดภูมิคุ้มกัน ฯลฯ และห้ามให้ในผู้ที่เคยแพ้วัคซีนนี้

แต่ในกรณีที่ฉีดไปแล้วแล้วเพิ่งทราบว่าตั้งครรภ์ ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ในการยุติการตั้งครรภ์ เพราะโอกาสที่ทารกจะผิดปกติจากการฉีดวัคซีนน้อยมาก (ซึ่งต่างจากการติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ ที่มีโอกาสทำให้ทารกพิการสูง) แนะนำให้รีบไปฝากครรภ์และทำอัลตราซาวด์ เพื่อดูความผิดปกติของทารกในช่วงไตรมาสที่2

ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนเดินทางไปต่างประเทศนานแค่ไหน

ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรค อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงนี้ 

ทำไมต้องแพทย์ถึงเตือนว่าหญิงตั้งครรภ์ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เพราะหากติดเชื้อแล้ว ทารกในครรภ์อาจพิการแต่กำเนิด(Congenital rubella syndrome) หูหนวก ตาเป็นต้อกระจก เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีภาวะผิดปกติทางสมอง และอวัยวะภายในไม่สมบูรณ์ได้

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ให้เด็กหญิงหรือหญิงวัยสาวที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมันได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน และ ขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นหัดเยอรมัน ถ้าฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ควรคุมกำเนิดไว้ 3 เดือน 

pregnant

มื่อพิสูจน์ได้แน่ว่าติดหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก แพทย์มักจะแนะนำให้ทำแท้ง เพราะโอกาสเด็กพิการมีถึง 50 % ดังนั้น สตรีที่มีครรภ์เมื่อป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง

หากต้องเดินทางในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งมีเวลาน้อยกว่า 2 อาทิตย์ จะฉีดวัคซีนได้หรือไม่

จากการสืบค้นข้อมูลและปรึกษากุมารแพทย์ คำตอบคือ ฉีดได้ค่ะ แต่ถ้าฉีดแล้วเดินทางเลยภูมิคุ้มกันอาจจะไม่ถึงระดับที่ป้องกันได้ ดังนั้นประสิทธิภาพจึงอาจจะได้ไม่ดีนัก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ให้ฉีด

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคหัดเยอรมัน

  • กรณีที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันหรือไม่เคยป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง
  • หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ เรื่องการป้องกันตนเองก่อนเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด
  • ผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ควรสังเกต หากมีอาการไข้ออกผื่นภายใน 21 วัน ควรไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง

สามารถติดตามข่าวสารเรื่องโรคระบาดเพิ่มเติมได้ที่นี่

แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : กรมควบคุมโรคCenters for Disease Control and Prevention

Facebook Comments

You may also like