คำถามยอดฮิตที่คนไข้มะเร็งหลายคนมักจะมาถามแอดมินทุกครั้งที่เจอหน้ากัน นั่นก็คือ…
คนไข้มะเร็ง ห้ามไปงานศพใช่มั้ยครับ/คะคุณหมอ ?
อย่าถามว่าไปได้ยินใครบอกมา เพราะคงหนีไม่พ้นคนข้างบ้านแน่นอน แอดมินจึงถามกลับไปว่า แล้วเพราะเหตุผลอะไร คนไข้มะเร็งถึงไปงานศพไม่ได้ล่ะคะ? คำตอบที่ได้กลับมาถึงกับต้องอ้าปากค้าง
ก็เพราะว่า เดี๋ยวจะเป็นลางไม่ดีบ้างล่ะ คนตายจะเอาไปอยู่ด้วยบ้างล่ะ
มีแต่คำตอบแนวไสยศาสตร์กันทั้งนั้น แต่รู้หรือไม่ว่า เหตุผลที่แท้จริงของคำถามนี้คืออะไร วันนี้แอดมินและทีมงานอยู่กับยาจะมาไขข้อข้องใจให้ได้ทราบกันค่ะ…
เหตุผลที่คนไข้มะเร็งไม่ควรไปงานศพคืออะไร?
เพราะว่าในงานศพมีสารก่อมะเร็งไงคะ ซึ่งก็คือ ควันธูป นั่นเองค่ะ
แล้วสารก่อมะเร็ง(Carcinogen)คืออะไร
สารก่อมะเร็ง(Carcinogen) คือ สารหรือสิ่งต่างๆรวมทั้งรังสีชนิดต่างๆที่เมื่อร่างกายได้รับเข้าไป อาจโดยการบริโภคหรือสัมผัส ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้อาจเป็นการได้รับในปริมาณสูงในระยะเวลาสั้นๆ หรือในปริมาณน้อยแต่สะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แบ่งกลไกการเกิดสารก่อมะเร็งเป็น 2 กลไก ดังนี้
- Genotoxic agent เป็นสารเคมีก่อมะเร็งที่มีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สารพันธุกรรม
คือทำให้โครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร - Epigenetic (nongenotoxic) agent เป็นสารเคมีก่อมะเร็งที่ไม่ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของดีเอนเอ เช่น แสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet light)หรือ รังสีไอออไนซ์ (ionizing radiation) เป็นต้น
นอกจากนี้องค์กรระหว่างประเทศด้านการศึกษาวิจัยเรื่องโรคมะเร็งที่เรียกย่อว่า ไอเออาร์ซี (IARC,International Agency for Research on Cancer)ได้แบ่งสารก่อมะเร็งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกันคือ
- Group 1: Carcinogenic to humans คือสาร/รังสี/แสงและอื่นๆที่สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น แร่ใยหิน (Asbestos), รังสีอัลตราไวโอเลต(Ultraviolet radiation),เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นต้น
- Group 2A: Probably carcinogenic to humans คือสาร/รังสี/แสงและอื่นๆที่มีความเป็นไปได้ในการที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น เนื้อแดง(red meat),ผงเหล็กโคบอลต์ผสมทังสเตนคาร์ไบด์
- Group 2B: Possibly carcinogenic to humans คือสาร/รังสี/แสงและอื่นๆที่อาจเป็นไปได้ในการที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งกับมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ลูกเหม็น(Naphthalene), โลหะนิกเกิล (Nickel)
- Group 3: Unclassifiable as to carcinogenicity in humans คือสาร/รังสี/แสงและอื่นๆที่ยังไม่สามารถจัดในขณะนี้ได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ยกตัวอย่างเช่น แสงฟลูออเรสเซนต์(Fluorescent lighting), พอลิไวนิลคลอไรด์(Polyvinyl chloride) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อย่อว่า PVC
- Group 4: Probably not carcinogenic to humans คือสาร/รังสี/แสงและอื่นๆที่มีความเป็นไปได้ว่าไม่ใช่สารก่อมะเร็ง ยกตัวอย่างเช่น caprolactam หรือสารต้นกำเนิดของไนลอน (Nylon 6) ที่เป็นส่วนประกอบในเม็ดพลาสติก
ควันธูปอาจทำให้เป็นมะเร็งได้อย่างไร
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ธูปที่เผาไหม้จะปล่อยฝุ่นละอองและสารมลพิษออกมามากมาย สารที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียนมาจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น กาว สี น้ำหอมเคมีเมื่อจุดธูปจะทำให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์, ไนโตรเจนออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, สารอินทรีย์ระเหยง่าย รวมถึงสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด ได้แก่ สารในกลุ่ม PAH (Polycyclic aromatic hydrocarbon) เบนซินบิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน เช่นเดียวกันกับที่มีในบุหรี่
นอกจากนี้ ยังมีโครเมียม ตะกั่ว และนิกเกิล ส่วนขี้เถ้าที่เกิดจากการจุดธูปจะมีแมงกานีสเป็นส่วนใหญ่ การกำจัดหรือจัดการขี้เถ้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทิ้งลงในน้ำ อาจปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือดินได้ หากดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแมงกานีสจะทำให้เกิดผลเสียต่อสมองได้
ซึ่งได้มีงานวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่า การจุดธูปเพียง 3 ดอก ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งเทียบเท่ากับการสูดควันรถบริเวณที่มีการจราจรคับคั่งอีกด้วย
ดังนั้น การไปงานศพอาจทำให้คนไข้มีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็งเพิ่มมากขึ้น จึงไม่แนะนำให้คนไข้ไปงานศพ แต่หากจำเป็นต้องไปจริงๆ เช่น งานศพญาติหรือเพื่อน อาจไปได้แต่ไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีโอกาสได้รับกลิ่นหรือควันธูปเป็นเวลานานๆจะดีกว่านะคะ
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งข้อมูล : อันตรายควันธูปมีสารพิษก่อมะเร็ง, Known and Probable Human Carcinogens, wikipedia.org, Food Network Solution