“คุณหมอพูดใหม่สิครับ ผมจำไม่ได้” ประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ เวลาจ่ายยา …
นั่นแสดงให้เห็นว่า ประเด็นที่ผู้ป่วยเข้าใจ อาจไม่ตรงกันกับที่เภสัชกรต้
แต่สิ่งที่เภสัชกรมักจะย้ำเสมอทุกครั้งเวลาจ่ายยา คือ
ให้ผู้ป่วยอ่านฉลากหน้าซองยาทุกครั้งก่อนรับประทานยา เพื่อป้องกันการรับประทานยาผิดวิธี
ซึ่งผู้ป่วยอาจมองข้ามไป ดังนั้น วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าค่ะว่า อะไรบ้างที่เราควรรู้เกี่ยวกับการอ่านฉลากยา
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการอ่านฉลากยา
ฉลากยา มีเพื่อให้เกิดการใช้ยาได้ถูกคน ถูกโรค และถูกวิธี แต่ผู้ป่วยหลายคนกลับมองไม่เห็นความสำคัญ ทำให้เกิดการใช้ยาไม่ถูกต้อง และไม่ปลอดภัย ซึ่งนอกเหนือจากการบอกชื่อยาและวิธีใช้แล้ว ฉลากหรือเอกสารกำกับยา ยังแสดงถึงอาการข้างเคียงจากการใช้ยา ข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ยานั้นอีกด้วย ซึ่งข้อมูลโดยทั่วไปบนฉลากยา ที่เรามักพบเจอตามโรงพยาบาล ร้านขายยา มีดังนี้
- ชื่อและนามสกุลของผู้ป่วย เพื่อประโยชน์ในการส่งมอบยาให้ถูกคนและถูกโรค
- ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาที่ตนเองแพ้ และเพื่อลดการกินยาซ้ำซ้อน หรืออาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด
- วิธีใช้ และข้อบ่งใช้ เพื่อให้ทราบเหตุผลของการใช้ยา และขนาดการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมกับโรคของตนเอง
- วันผลิตและวันหมดอายุ ช่วยให้หลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้ยาที่หมดอายุหรือยาที่เสื่อมคุณภาพแล้ว
- ผลข้างเคียง ข้อห้ามใช้และคำเตือน เป็นข้อความที่ผู้ป่วยควรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาจส่งผลถึงความปลอดภัยในการใช้ยาได้
- อื่นๆ เช่น เลขทะเบียนตำรับยา, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต เพื่อให้มั่นใจว่า ยานั้นได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว และหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับยาของบริษัทนั้นๆ สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อร้องเรียนได้
บางครั้งผู้ป่วยมักจะทิ้งซองยา แล้วเอาแผงยาหลายๆชนิดมารวมไว้ในซองเดียวกัน เพราะอาจจะด้วยเหตุผลว่า ไม่อยากพกยาทีละหลายๆซอง แต่หารู้ไม่… การกระทำดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาของการกินยาไม่ถูกวิธีนะคะ
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา อย่าทิ้งซองยาและควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนทุกครั้งค่ะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : FDAThai