เชื้อดื้อยา ปัญหาจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

โดย Boontharika Boonchaisaen
ASU_RDU

ถ้าใครติดตามข่าวสุขภาพ น่าจะพอทราบว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังรณรงค์ให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดเข้มงวดเรื่องการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะ (Antimicrobial Resistance : AMR) และส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) โดยเน้นผู้บริหารให้ความสำคัญแก่บุคลากรที่จบใหม่เห็นความสำคัญของ RDU นอกจากนี้ยังสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ฟ้าทะลายโจร รักษาหวัด ขมิ้นชัน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาเหลืองปิดสมุทร รักษาอุจจาระร่วงอีกด้วย

Amoxicillin

เนื่องมาจากในแต่ละปีพบว่า คนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน (มากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่ง) ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อและไม่สมเหตุสมผล

เชื้อดื้อยา คือ อะไร

Bacteria

เชื้อดื้อยาในที่นี้หมายถึง เชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ซึ่งเชื้อดื้อยานี้จะทนต่อยาที่เคยยับยั้งหรือฆ่าตัวเชื้อได้ ส่งผลให้ยาที่เคยใช้ได้ผลกลับใช้ไม่ได้ผล ทำให้ไม่หายจากการติดเชื้อ และมีโอกาสแพร่เชื้อดื้อยาไปสู่คนอื่นๆได้อีก โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยและมักพบว่ามีสาเหตุจากเชื้อดื้อยาอยู่บ่อยครั้ง เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ, ปอดอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

กลไกการดื้อยา

antimicrobial resistance

ขอบคุณภาพจาก http://biology.ipst.ac.th

กลไกการเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะนั้นมีหลายกลไก ได้แก่

  • แบคทีเรียผลิตเอนไซม์มาทำลายยาซึ่งเป็นกลไกการดื้อยาที่พบมากที่สุด ทำให้ยาปฏิชีวนะไม่สามารถออกฤทธิ์ได้
  • การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายที่ยาไปออกฤทธิ์ โดยเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป้าหมาย ทำให้ยาจับกับเป้าหมายไม่ได้ ยาจึงออกฤทธิ์ไม่ได้
  • มีการผลิตเป้าหมายที่ยาไปออกฤทธิ์ใหม่ แล้วจะมาจับกับเป้าหมายใหม่แทน ทำให้ยาที่มีอยู่ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เกิดจากลดการนำยาเข้ามาในเซลล์ หรือเพิ่มการขับออกยาออกจากเซลล์

พฤติกรรม นำพาเชื้อดื้อยา

Medications Cure Tablets Pharmacy

  1. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น
  2. เคยหยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะเมื่ออาการดีขึ้น
  3. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ ในครั้งก่อนๆ
  4. เคยกินยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ
  5. เปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะชนิดที่แรงกว่าด้วยตนเอง
  6. เอายาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะโรยแผล
  7. ใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะผสมในอาหารสัตว์
  8. ใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะโดยไม่ทราบชื่อสามัญของยา
  9. เคยไปซื้อยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะกินเอง โดยมักเข้าใจผิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ
  10. การไม่แนะนำคนที่ใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ ให้ใช้ยาอย่างเหมาะสม

จะแก้ปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะได้อย่างไร

Asu21dl

ขอบคุณภาพจาก http://newsser.fda.moph.go.th/rumthai/userfiledownload/asu21dl.jpg

สิ่งสำคัญของการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาเลยคือ “ต้องอาศัยความร่วมมือของเราทุกคน” ในการกินยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม, ไม่ซื้อยาปฎิชีวนะกินเอง และต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง, ไม่ควรแบ่งยากันกินนะคะ เพราะยาไม่ใช่ขนม  และไม่ควรนำยาปฏิชีวนะที่เหลือจากการสั่งจ่ายของแพทย์ครั้งก่อนหน้า มากินต่อหากอาการป่วยกลับมาเป็นซ้ำอีก

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง ได้เวลาเปลี่ยนความเชื่อเพราะยาฆ่าเชื้อไม่ใช่ยาแก้อักเสบ

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา ได้ที่นี่

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, รัฐบาลไทย

Facebook Comments

You may also like