วันก่อนมีแฟนเพจ inbox มาถามเกี่ยวกับเรื่องวิตามินอะไร กินแล้วทำให้รู้สึกอยากอาหารได้ น้ำหนักเพิ่ม ไม่เบื่ออาหารบ้าง คิดว่าหลายๆคนที่กำลังรู้สึกเบื่ออาหารอยู่ คงอยากรู้คำตอบเช่นกันกับน้องแฟนเพจคนนี้ แต่ก่อนที่เราจะไปทราบคำตอบ เรามาทำความรู้จักกับภาวะเบื่ออาหารกันก่อนดีกว่าค่ะ เผื่อใครที่แวะเข้ามาอ่าน จะได้เอาไปตรวจเชคตัวเองว่า กำลังเข้าข่ายภาวะนี้อยู่หรือเปล่า…
ภาวะเบื่ออาหาร เป็นอย่างไร
เบื่ออาหาร (Anorexia) เป็นอาการที่ความรู้สึกในการอยากอาหารลดลง ส่งผลให้ไม่อยากกินและเมื่อเกิดขึ้นเป็นหลายวันหรือสัปดาห์หรือหลายเดือน จะส่งผลให้เกิดอาการผอมลงหรือน้ำหนักลดได้ อาการแสดงที่บอกว่ามีภาวะเบื่ออาหาร (Anorexia) ต้องมีอย่างน้อย 1 อาการของอาการที่มีผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร คือ
- อิ่มเร็ว (early satiety)
- การรับรสผิดปกติ (taste alteration)
- การได้กลิ่นผิดปกติ (smell alteration)
- อาการไม่อยากกินเนื้อสัตว์ (meat aversion)
- คลื่นไส้อาเจียน (nausea/vomiting)
สาเหตุการเบื่ออาหาร
- โรคที่เกิดเฉียบพลันเช่น โรคติดเชื้อต่างๆ
- โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง โรคสมองเสื่อม
- ปัญหาทางอารมณ์จิตใจเช่น ความเครียดและซึมเศร้า
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดเช่น ยาทางจิตเวชบางชนิด
เบื่ออาหารมักหายได้เองภายหลังการรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุได้ ทั้งนี้เมื่อมีอาการเบื่ออาหารจนส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 5% ในระยะเวลา 6 เดือน ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ
.. เวลาไปร้านขายยา หรือมาโรงพยาบาล เคยเห็นแพทย์สั่งใช้วิตามินบีคอมเพล็กซ์(B-complex vitamins)กันบ้างมั้ยคะ แล้วสงสัยมั้ยว่า วิตามินตัวนี้มีประโยชน์อย่างไร ทำไมเวลาป่วย น้ำหนักลด ร่างกายอ่อนเพลีย เภสัชกรและแพทย์ถึงชอบจ่ายวิตามินตัวนี้ให้
ก็เพราะวิตามินบีรวมเป็นแหล่งรวมวิตามินบีที่มีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับประจำวันทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่
ดังนั้นเวลาผู้ป่วยน้ำหนักลด ร่างกายอ่อนเพลียหรือเบื่ออาหาร เภสัชกรจึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินดังกล่าว
วิตามินบีรวม(B-complex vitamins) กับ การเพิ่มความอยากอาหาร
วิตามินบีรวม(B-complex vitamins) ที่เราคุ้นเคยกันมักอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่คุณทราบหรือไม่ว่าวิตามินบีนั้นมีอยู่หลายชนิด และต่างก็มีประโยชน์และผลข้างเคียงที่ต่างกันออกไป โดยวิตามินบีแต่ละตัวจะทำงานเสริมซึ่งกันและกัน ต้องรับประทานร่วมกันจึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแยกรับประทาน
สำหรับวิตามินบีรวม(B-complex vitamins)นั้นประกอบด้วยวิตามินบีชนิดต่างๆ ได้แก่ วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 3, วิตามินบี 5, วิตามินบี 6, วิตามินบี 7, วิตามินบี 9, วิตามินบี 12 เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดนั้นมีสรรพคุณแตกต่างกันไป ดังนี้
- วิตามินบี 1: ยังทำให้การทำงานของระบบประสาทมีประสิทธิภาพ
- วิตามินบี 2: ช่วยในการมองเห็น
- วิตามินบี 3: ช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกายให้เป็นปกติโดยเพิ่มระดับ HDL cholesterol และช่วยควบคุมไม่ให้ LDL cholesterol และ Triglycerides สูงเกินปกติ
- วิตามินบี 5: ช่วยควบคุมภาวะอารมณ์เครียดและความวิตกกังวล เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
- วิตามินบี 6: ช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนสารอาหารไปเป็นพลังงาน ช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี การใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะช่วยส่งผ่านไปถึงทารกและทำให้การพัฒนาสมองของทารกเป็นไปอย่างปกติ
- วิตามินบี 7: บำรุงเส้นผมป้องกันไม่ให้ผมร่วง บำรุงเล็บ ช่วยป้องกันอาการซึมเศร้าได้บ้าง
- วิตามินบี 9: ช่วยบำรุงเม็ดเลือดแดงให้สมบูรณ์แข็งแรง การใช้ในหญิงตั้งครรภ์ช่วยป้องกันไม่ให้ทารกแรกคลอดขาดวิตามินชนิดนี้
- วิตามินบี 12: ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทให้เป็นปกติ และช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงให้เจริญอย่างเป็นปกติและแข็งแรง
และวิตามินบีรวมบางยี่ห้อ อาจมีส่วนผสมของไบโอติน โคลีน พาบา อิโนซิทอลรวมอยู่ด้วย
มีการศึกษาทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์พบว่าวิตามินบีรวม(B-complex vitamins) เพิ่มความอยากอาหารได้ เนื่องจากวิตามินบีรวมจะช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เพื่อให้เป็นพลังงาน ส่งผลให้ผู้ที่รับประทานจะมีอาการหิวบ่อยขึ้น
โดยขนาดที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวันคือ 100 มิลลิกรัมต่อวันหรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะสั่งจ่ายยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย วิตามินบีรวมสามารถรับประทานได้ทั้งก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
ถ้ากินวิตามินบีคอมเพล็กซ์เยอะ ๆจะสะสมในร่างกายหรือเกิดผลเสียมั้ย?
ต้องเกริ่นให้ทราบกันก่อนว่าวิตามินที่เรารับประทานอยู่นั้น มีด้วยกัน 2 ชนิดคือ
-
วิตามินที่ละลายในไขมัน คือ Vitamin A, Vitamin E, Vitamin D และ Vitamin K
-
วิตามินที่ละลายในน้ำคือ Vitamin B และ Vitamin C
สำหรับวิตามินซีหรือบี เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ จะไม่มีการเก็บสะสมในร่างกาย หรือเก็บสะสมในปริมาณที่น้อยมากๆ เพราะวิตามินชนิดนี้เมื่อรับประทานเข้าไป จะถูกขับออกทางปัสสาวะ ดังนั้นจึงไม่เกิดการสะสมในร่างกาย ต่างกับวิตามินที่ละลายในไขมัน ซึ่งอาจจะสะสมในตับ และในเซลไขมันในร่างกายได้นั่นเองค่ะ
ดังนั้นการเลือกรับประทานวิตามินแต่ละชนิดจึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน และที่สำคัญควรคำนึงถึงปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละวันร่วมด้วยนะคะ อย่าลืมว่าคุณได้รับวิตามินจากอาหารแต่ละชนิดอยู่แล้ว ดังนั้น หากรับประทานอาหารเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การรับประทานวิตามินเพิ่มเข้าไปอาจไม่จำเป็นค่ะ
เคล็ด(ไม่)ลับอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ เนื่องจากน้ำจะทำให้คุณรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
- ออกกำลังกายกระตุ้นการอยากอาหาร เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการเผาผลาญพลังงานที่ร่างกายได้รับเข้าไป ทำให้คุณรู้สึกหิว และอยากอาหารมากขึ้นได้
- วิตามินและสมุนไพรบางชนิด ช่วยเพิ่มความอยากอาหารได้ ดังที่กล่าวไปข้างต้นคือ วิตามินบีรวม นอกจากนี้อาจรับประทานวิตามินรวมหรือมัลติวิตามิน(Multivitamin) แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง Brewer’s yeast เป็นต้น
อาการหรือภาวะเบื่ออาหารหากรักษาให้ตรงตามสาเหตุ เช่น ลดความเครียด หรือรักษาโรคให้หายขาด เพียงเท่านี้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมอย่างต่อเนื่องแล้วล่ะค่ะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : livestrong, wikipedia, คณะเภสัชศาสตร์ ม. มหิดล, Prescription for Nutritional Healing