รู้หรือไม่? นอกจากไข้หวัดใหญ่ ที่กำลังระบาดกันอยู่ในช่วงหน้าฝนนี้
ยังมีโรคใดบ้าง ที่ต้องระวังอีก
เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วงๆ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้ และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลายชนิด ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้น เรามาเตรียมรับมือและป้องกันโรคที่อาจเกิดได้ในช่วงฤดูฝนนี้ กันดีกว่าค่ะ
5 กลุ่มโรคที่อาจเกิดในหน้าฝน
1. โรคที่เกิดจากแมลงพาหะ ได้แก่
โรคไข้เลือดออก
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
- อาการ ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา บางรายมี ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดแดงเล็กๆ ตามตัว แขน ขา รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหลและเลือดออกไรฟัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ และมักไม่มีน้ำมูก ผู้ที่อาการไม่รุนแรงหลังจากไข้ลดลง อาการต่างๆจะดีขึ้น แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง ขณะที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว จะเกิดภาวะช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตลดลง บางรายมีอาการปวดท้องกะทันหัน อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
- การป้องกัน ป้องกันยุงกัด ขจัดลูกน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
โรคมาลาเรีย
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค
- อาการ มีไข้สูง อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วยได้ หากรับการรักษาช้า อาจมีปัญหาทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวายฯ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
- การป้องกัน ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น การทายากันยุง การนอนในมุ้ง
โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี
- สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค
- อาการ ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย หากอาการรุนแรงผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิต บางรายเมื่อหายป่วย อาจมีความพิการทางสมอง สติปัญญาเสื่อมหรือเป็นอัมพาตได้
- การป้องกัน ไม่ให้ถูกยุงกัดและฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับวัคซีน เช่น เด็กเล็ก ผู้ปกครองต้องพาไปรับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
2. โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ
- อาการ อาเจียน, ปวดท้อง, อุจจาระร่วง พิษบางชนิดที่รุนแรง อาจทำให้เกิดตับวาย ตัวเหลือง ไตวายและเสียชีวิต
- การป้องกัน ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจเท่านั้น และหากเก็บเห็ดมาแล้ว ให้นำมาปรุงอาหารเลยไม่ควรเก็บไว้นานเพราะเห็ดจะเน่าเสียเร็วหรืออาจแช่ตู้เย็นไว้ได้
3. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
โรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดต่อทางเดินหายใจ
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
- อาการ มีไข้ไอ หายใจเร็ว หรือ หอบเหนื่อย
- การป้องกัน ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก (หรือสวมหน้ากากอนามัย) หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน และควรล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ กลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ อ่านเพิ่มเติมเรื่องไข้หวัดใหญ่และการป้องกันตนเองได้ที่นี่
โรคมือ เท้า ปาก
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสที่เจริญเติบโตได้ในลำไส้ เช่น คอกซากีไวรัส เอนเทอโรไวรัส
- อาการ มีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม แล้วจะเกิดตุ่ม หรือผื่นนูนสีแดงเล็กๆ (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส ซึ่งต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ
- การป้องกัน รักษาสุขอนามัยของเด็กและผู้เลี้ยงดูเด็กให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ
4. โรคที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมและสัตว์พาหะ
โรคเลปโตสไปโรซีส
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในฉี่หนูหรือสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ รวมทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ฟันแทะ
- อาการ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง และโคนขา อาจมีอาการตาแดง คอแข็งร่วมด้วย มักมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด อาจมีผื่นที่เพดานปาก หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ระยะท้ายอาจมีตับและไตวาย ปอดอักเสบ และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- การป้องกัน หลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทยางกันน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลที่ขา
5. โรคและอันตรายที่มักเกิดร่วมกับภาวะอุทกภัย
โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร
- สาเหตุ เกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมทั้งเกิดจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
- การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไว้นานข้ามมื้อหรือเกิน 24 ชั่วโมง
โรคเยื่อตาอักเสบ หรือตาแดง
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
- การป้องกัน หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าหรือของใช้ร่วมกัน และใช้น้ำสะอาดอาบน้ำและล้างหน้า
โรคน้ำกัดเท้า
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา
- การป้องกัน หลีกเลี่ยงการย่ำนำ้ หรือรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง หลังย่ำน้ำ
อันตรายจากสัตว์มีพิษ
เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะในช่วงที่มีน้ำท่วม
อันตรายจากการจมน้ำ
ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ลงเล่นน้ำ ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว ประชาชนที่อยู่ในภาวะน้ำท่วม หรือประกอบอาชีพทางน้ำไม่ควรดื่มของมึนเมา และไม่ควรปล่อยให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ เช่นโรคลมชัก ความดันโลหิตต่ำอยู่ตามลำพัง เพราะอาจทำให้พลัดตกและจมน้ำเสียชีวิตได้
อันตรายจากไฟฟ้าดูด
- สาเหตุ การใช้มือจับอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรงในขณะที่ร่างกายเปียกน้ำ
- การป้องกัน ไม่ควรจับสวิตซ์ไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าขณะตัวเปียก และควรตรวจสอบปลั๊กไฟ สายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้มั่นใจว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติ และปลอดภัย
เพื่อสุขภาพที่ดี ควรรู้เท่าทัน 5 โรคยอดฮิตในหน้าฝนกันนะคะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : กรมควบคุมโรคติดต่อ