“อะไรนะ พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้าไปผสมยา แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว เฮ้อ..”
เดี๋ยวก่อนนะคะ ผสมยาที่ว่านี้ไม่ใช่เอายาแต่ละตัวเทลงหม้อ แล้วคลุกๆ เหมือนผสมอาหารนะ ฮ่าๆ แต่มันคือการ “เตรียมผสมยาเคมีบำบัด หรือ ที่หลายคนรู้จักกันว่า ยารักษามะเร็ง” นั่นเองค่ะ ก่อนที่จะเล่าต่อ ขอเกริ่นความหมายของยามะเร็งให้ฟังกันก่อน เผื่อมีคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วงงว่ามันคือยาอะไร?
ยาเคมีบำบัด คือ อะไร
ยาเคมีบำบัด เป็นยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการแบ่งเซลล์ ทำลายเซลล์ และการเจริญเติบโตของเซลล์ ใช้รักษาโรคมะเร็ง โดยมุ่งหวังการขัดขวางการเจริญเติบโตของมะเร็ง
แต่ยาเคมีบำบัดเป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อเซลล์ทุกชนิดที่มีการแบ่งตัวเร็วทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ เช่น เซลล์ของเยื่อบุทางเดินอาหาร ผม และเซลล์ไขกระดูก เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการข้างเคียงที่เรามักเจอในคนไข้มะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง หรือ คลื่นไส้อาเจียน นั่นเองค่ะ
ที่นี่หลายคนน่าจะพอหายสงสัยกันบ้างแล้วนะคะว่า ยาเคมีบำบัดหรือยามะเร็งคืออะไร แล้วทำไมคนไข้มะเร็งส่วนใหญ่มักจะผมร่วงกัน 🙂
งั้นมาอ่านเรื่องเล่ากันต่อเลยดีกว่าค่ะ…
ขอบอกก่อนว่า แอดมินเป็นเภสัชกรทำหลายหน้าที่ ฮ่าๆ บางคนที่ติดตามเพจอาจจะเคยอ่านเรื่องเล่าต่างๆมา น่าจะพอทราบกันบ้างว่าแอดมินทำงานในส่วนไหน ซึ่งอีกบทบาทหนึ่งคือเป็น “เภสัชกรเตรียมผสมยาเคมีบำบัดให้ผู้ป่วยมะเร็ง”
แค่ได้ยินชื่อบางคนอาจจะขนลุกกันแล้ว เพราะแอบเคยได้ยินคนอื่นพูดกันว่า เภสัชกรเตรียมยาเคมีบำบัด เป็นงานที่น่ากลัว เหมือนสารกัมมันตภาพรังสี อันตรายมาก .. เอิ่ม นั่นก็อันตรายไปค่ะ
จริงๆไม่ถึงขั้นแผ่รังสีขนาดนั้น แต่เภสัชกรทุกคนที่สามารถเตรียมผสมยาเคมีบำบัดได้ ต้องผ่านการอบรมและฝึกฝนจนได้ใบประกาศนียบัตรจากสถาบันที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจาดสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เพราะจากที่กล่าวมาข้างต้นถึงอันตรายของยาเคมีบำบัด หากเกิดการหกหรือตกแตก หรือเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น เภสัชกรทุกคนที่เตรียมผสมยาเคมีบำบัดจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
แต่ความน่าเศร้าใจก็คือ เป็นงานที่ค่อนข้างขาดแคลนเภสัชกร เนื่องจากอาจกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นแอดมินเป็นเภสัชกรคนเดียวในโรงพยาบาลที่ถูกเลือกให้ผสมยาเคมีบำบัดให้ผู้ป่วยมะเร็ง บางทีก็แอบคิดว่า
“ทำไมต้องเป็นเรา? ทำไมเราต้องมาเสี่ยงอันตรายคนเดียว?”
แต่หลังจากได้ไปฝึกฝนและอบรมมาจนชำนญแล้ว จึงทราบว่า มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะไม่ว่าจะเป็นชุดหรือตู้ปลอดเชื้อที่ใช้ผสมยาเคมีบำบัด ต่างก็ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันอันตรายแก่ตัวผู้ผสมเอง หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมร่วมด้วย
และนอกจากนี้บุคลากรทั้งหมดที่ผสมยาเคมีบำบัดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในงาน จะต้องมีการตรวจสุขภาพพื้นฐานทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติงาน เช่น ตรวจเม็ดเลือด เกล็ดเลือด ตลอดจนดูภาวะการทำงานของตับ ไต และถ่ายภาพรังสีปอด ซึ่งถือว่าปลอดภัยพอสมควรค่ะ
และการได้ขึ้นไปคุยกับผู้ป่วยมะเร็งบนหอผู้ป่วยหรือได้ให้คำปรึกษาที่คลินิกเคมีบำบัด จึงทำให้พบคำตอบว่า ทำไมต้องเป็นเราที่เสี่ยงอันตรายมาผสมเคมีบำบัด คำตอบนั้นก็คือ…
เพราะคนไข้ต้องการเรา ถ้าไม่มีเรา แล้วใครจะผสมยาเคมีบำบัดให้คนไข้มะเร็งเหล่านั้น และใครจะให้คำปรึกษาเรื่องอาการข้างเคียงจากยากับคนไข้เหล่านั้น ถ้าไม่ใช่ “เภสัชกรโรคมะเร็ง”
จากที่เคยบ่นว่าไม่อยากตื่นไปผสมยา ก็ค่อยๆปรับทัศนคติของตัวเองใหม่ ให้มีกำลังใจทำงานมากขึ้น จนวันนี้มีเพื่อนร่วมทีมเพิ่มขึ้นแล้ว และหวังว่าจะมีเภสัชกรเตรียมผสมยาเคมีบำบัดถูกผลิตออกมาหลายๆคน เพื่อช่วยผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน เช่นกันค่ะ 🙂
แหล่งข้อมูล : หนังสือคู่มือเภสัชกรการผสมยาเคมีบำบัด (GTOPP)