อีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยเวลาขึ้นไปคุยกับคนไข้บนหอผู้ป่วยคือ คนไข้ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการนำยาโรคประจำตัวเดิม หรือพกสมุดประจำตัวมาโรงพยาบาลด้วย หรืออาจจะพกมา แต่นำยามาไม่ครบทุกตัว หรือแม้แต่นำมาทุกตัวแต่แบ่งมาตัวละแผง สองแผงก็มี ซึ่งหากคนไข้ไม่เห็นความสำคัญหรือใส่ใจ แน่นอนว่าปัญหาต่างๆอาจเกิดตามมาได้อย่างแน่นอน ดังกรณีศึกษาที่จะยกตัวอย่างให้ฟังต่อไปนี้..
เภสัชกร : คุณป้าคะ เภสัชขอดูยาโรคประจำตัวเดิมที่คุณป้ากินหน่อยได้มั้ยคะ เอามาด้วยรึป่าว
คุณป้า : ไม่ได้เอามาจ้า
เภสัชกร : งั้นคุณป้ากลับไปเอายาเดิมมาให้ดูหน่อยสิคะ
คุณป้า : ได้จ้า เดี๋ยวป้าให้สามีไปเอามาให้ แต่บ้านป้าอยู่ไกล คุณหมอรอหน่อยได้มั้ยคะ
เภสัชกร : ได้ค่ะ ไม่งั้น หนูจะลองโทรถามอนามัยที่คุณป้ารับยาดูอีกทีแล้วกันค่ะ
หลังจากที่เภสัชกร พยายามโทรประสานสถานีอนามัยที่คุณป้าคนไข้รับยา แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ก็ต้องรอให้สามีของคุณป้านำยามาให้ คุณหมอก็รอดูอยู่ว่ามียาอะไรบ้าง เพราะต้องเข้าผ่าตัดเช้าวันพรุ่งนี้ กว่าสามีคุณป้าจะมาถึงก็เย็นแล้ว หลังจากได้ยาของคุณป้ามา ก็พบว่า ยาที่คุณป้านำมานั้น ไม่มีซองยามาด้วย จึงถามคุณป้ากลับไปว่า…
เภสัชกร : คุณป้า ไม่ได้เอาซองยามาด้วยหรอคะ
คุณป้า : ไม่จ้า พอดีป้าจำได้อยู่
เภสัชกร : ถึงคุณป้าจะจำได้จริง แต่หน้าที่ของเภสัชกรก็ต้องตรวจสอบความถูกต้องของฉลากยาหน้าซอง ว่าตรงกับที่คุณป้ากินเป็นประจำมั้ยอยู่ดีค่ะ และที่สำคัญต้องดูว่ายาที่คุณป้ามีเหลือมากน้อยแค่ไหน เพราะเราจะได้ทราบว่า คุณป้ากินยาทุกวันหรือเปล่า?
คุณป้า : อ่อ จ้า เข้าใจแล้วค่ะ
แต่เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น…
หลังจากเปิดถุงยาของคุณป้าดูก็พบว่า คุณป้ามียาตัวหนึ่งที่หากจะทำหัตถการเกี่ยวกับการผ่าตัด จะต้องแจ้งศัลยแพทย์ให้ทราบก่อนเสมอ ก็คือ “ยาแอสไพริน หรือ ยาต้านเกล็ดเลือด” นั่นเองค่ะ และซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยไม่ได้หยุดยาแอสไพรินก่อนวันนัดผ่าตัด และกินยามาจนถึงวันปัจจุบัน ซึ่งหลังจากที่เภสัชกรซักประวัติพบดังนี้ จึงรีบแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ให้ทราบทันที เพื่อจะได้ให้แพทย์เจ้าของไข้พิจารณาก่อนว่าในคนไข้รายนี้จะยังสามารถผ่าตัดได้อยู่หรือไม่
และสุดท้าย คนไข้รายนี้ก็ต้องเลื่อนวันผ่าไปหนึ่งอาทิตย์ พร้อมกับต้องงดยาแอสไพรินร่วมด้วย…
ถ้าสมมติว่าเหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนี้ ถ้าคนไข้ไม่เอายามา และเภสัชกร หมอหรือพยาบาลซักประวัติไม่เจอว่า คนไข้กินยาแอสไพรินอยู่ อาจพลาดผ่าตัดให้คนไข้รายนี้ไป แล้วคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นคะ? ไม่แน่ว่าคนไข้อาจเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด และร้ายแรงกว่านั้น นั่นคือ อาจเสียชีวิตได้เลย
และนี่ก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมเภสัชกร ถึงต้องแนะนำคนไข้ว่า ให้นำยาโรคประจำตัวเดิมมารพ. ทุกครั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าว ในทางการแพทย์เรียกกระบวนการนี้ว่า “Medication Reconciliation” ค่ะ
Medication reconciliation คืออะไร
ขอบคุณภาพจาก หมอชาวบ้าน
เป็นกระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลรายการยาที่ผู้ป่วยใช้ที่บ้านก่อนเข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสามารถทําได้ ทั้งชื่อยา ขนาดรับประทาน ความถี่และ วิถีใช้ยาน้ัน ๆ (รวมถึงยาที่ผู้ป่วยซื้อมารับประทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร)
หลังจากท่ีได้ข้อมูลรายการยาที่ผู้ป่วยใช้อย่างต่อเนื่องแล้ว ต้องมีการเปรียบเทียบกับรายการยาที่แพทย์สั่งเมื่อแรกรับ ขณะอยู่โรงพยาบาล ช่วงท่ีมีการย้ายหอผู้ป่วย และรายการยาในวันกลับบ้าน หากพบความแตกต่างของรายการยาต้องมีการบันทึกเหตุผลเพื่อสื่อสารข้อมูลกับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งรายการยาดังกล่าวนี้ต้องติดตามผู้ป่วยไปทุกสถานที่ของการให้บริการทั้งในสถานพยาบาลเดียวกันหรือต่างสถานพยาบาล
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่เภสัชกร ร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นในรพ. ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่องและเกิดความปลอดภัยสูงสุดในชีวิตนะคะ ดังนั้น อยากให้คนไข้ทุกคนเห็นความสำคัญของการนำยาโรคประจำตัวเดิม หรืออาจนำสมุดประจำตัวคนไข้มาแทนได้ในกรณียาหมด เพื่อเป็นข้อมูลในการรักษาให้แก่หมอ พยาบาล และเภสัชกรด้วยนะคะ…
ด้วยความปรารถนาดีจากทีมงาน อยู่กับยา
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : mahidol.ac.th