“ตอนแรกก็คิดว่าแต่งงานแล้ว จะมีสามีดูแล แต่สุดท้ายตัวเองต้องกลายมาเป็นคนดูแลสามี”
คำพูดที่คนทั่วไปอาจฟังแล้วไม่รู้สึกสะทกสะท้านหรือสะเทือนใจอะไร แต่สำหรับคนไข้ที่ป่วยระยะสุดท้ายและรู้ว่าอีกไม่นานเขากำลังจะตาย นั้นคงรู้สึกไม่ดีแน่
วันนี้มีโอกาสได้ออกเยี่ยมบ้านคนไข้ Palliative care หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้เรียนรู้ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่จากคนไข้..
คนไข้บางรายก็มีผู้ดูแลที่ดี พร้อมทั้งแรงกายและแรงใจ แต่บางรายอาจมีผู้ดูแลที่ไม่พร้อมทั้งแรงกาย แรงใจ หรือแม้แต่ทุนทรัพย์ และก่นด่าตัวเองกับความโชคร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต
ตอนเรียน lecture เรื่อง Palliative care มีประโยคหนึ่งที่อาจารย์เคยบอกไว้ว่า
“อย่าโกรธที่คนไข้หรือญาติด่าว่าเรา ที่ทำให้เขาต้องเสียคนที่รักหรือต้องเสียชีวิต เพราะอย่างน้อย เขาก็มีเราให้โทษ ดีกว่าเขาไม่มีใครให้โทษจนต้องโทษตัวเอง”
เพิ่งเข้าใจวันนี้.. ว่าไม่มีใครให้โทษมันเป็นยังไง
ครอบครัวหนึ่งที่ภรรยาตั้งใจว่า แต่งงานกับสามีเพื่อให้สามีดูแลตัวเองได้ พึ่งพาได้ เพราะตนกำลังป่วยเป็นเบาหวานอยู่ แต่สุดท้าย โชคก็ไม่เข้าข้าง เพราะสามีตรวจเจอโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น นั่นคือ “มะเร็ง” ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ เป็น “มะเร็งระยะสุดท้าย” แต่ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ เครียด หรือกดดันหลายๆอย่าง ภรรยาได้พูดประโยคที่สามีได้ยิน ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่คือ
“ตอนแรกที่แต่งงานด้วยก็ว่าจะได้มาดูแล แต่พอแต่งมาแล้วกลายเป็นว่าเราต้องเป็นฝ่ายดูแลเขา”
เข้าใจความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย ภรรยาคงพูดด้วยความเครียดและกดดัน หรือโมโหที่ตัวเองอาจจะดูแลสามีได้ไม่ดี ด้วยฐานะที่ยากจน และคงเหนื่อยที่ต้องแบกรับภาระอันหนักหนานี้ไว้คนเดียว และไม่รู้จะโทษใคร เลยอาจจะพูดออกมาโดยไม่ทันคิดว่าสามีจะรู้สึกยังไง เมื่อได้ฟัง
ส่วนสามี.. หลังจากฟังคงรู้สึกไม่ดีนัก เพราะคนไข้ที่เป็นคนไข้ระยะสุดท้าย และเคยเป็นหัวหน้าครอบครัวมาก่อน ถ้าเลือกได้ เขาคงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ดังนั้น ยิ่งได้ยิน ยิ่งทำให้คนไข้น้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกตัวเองไร้ค่า และไม่มีกำลังใจสู้ต่อไปได้ โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่ควรให้คนไข้ได้ยิน น่าจะดีกว่า..
ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ครอบครัวที่มีคนไข้แบบนี้อยู่ในบ้านคงเข้าใจว่าต้องอาศัยทั้งความอดทน ความเข้าใจมากแค่ไหน และที่สำคัญสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ “กำลังใจ” ที่ดี
การได้เข้าไปมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทำให้มองเห็นความหมายของชีวิตได้อย่างชัดเจนว่า..
“คนเราเกิดมาอาจไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย แค่ได้มีส่วนช่วยต่อชีวิต และให้กำลังใจคนอื่นได้ นั้นมีค่าและมีความหมายมากกว่าเงินทอง”
รอยยิ้มและคำขอบคุณของคนไข้ ทำให้มีแรงสู้ต่อไปในการทำงาน ขอบคุณคำสอนของอาจารย์ที่ทำให้ได้นำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตค่ะ 🙂