แคลเซียม และวิตามินบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก หากรับประทานพร้อมกันประสิทธิภาพจะลดลงหรือไม่

โดย Boontharika Boonchaisaen

อีกหนึ่งปัญหาที่ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายน่าจะกำลังสงสัย หรือเคยสงสัยเกี่ยวกับการรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์หรือวิตามินบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก ที่คุณหมอสั่งให้นั้น สามารถรับประทานพร้อมกันได้หรือไม่ ประสิทธิภาพจะลดลงมั้ยหรือจะเกิดยาตีกันหรือเปล่า วันนี้แอดมินจะมาไขข้อสงสัยให้ได้ทราบไปพร้อมกันค่ะ

วิตามินสำคัญอย่างไรสำหรับการตั้งครรภ์

ในระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากการรับประทานอาหาร หรือการระมัดระวังเรื่องของอุบัติเหตุที่คุณแม่หลายคนให้ความสำคัญแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ “วิตามินบำรุงขณะตั้งครรภ์” 

เพราะการรับประทานอาหารบางครั้งอาจได้รับวิตามินไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเสริมวิตามินเพื่อให้มั่นใจว่าได้รับวิตามินเพียงพอสำหรับความต้องการของคุณแม่ และทารกในครรภ์นั่นเองค่ะ

วิตามินบำรุงขณะตั้งครรภ์จะประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ที่สำคัญมากคือ กรดโฟลิก, ธาตุเหล็ก, ไอโอดีนและแคลเซียม เป็นต้น บางรพ.อาจจะจ่ายเป็นวิตามินรวมในเม็ดเดียว ยกตัวอย่างเช่น วิตามินยี่ห้อ Obimin-AZ หรือ Nataral หรือคุณแม่บางท่านอาจได้วิตามินอื่นเพิ่มด้วย เช่น วิตามินบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก (Ferrous Fumarate) หรือ แคลเซียม เป็นต้น

แคลเซียม และวิตามินบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก หากรับประทานพร้อมกันประสิทธิภาพจะลดลงหรือไม่

แน่นอนบางท่านอาจไม่ได้ใส่ใจเรื่องเวลาของการรับประทานวิตามิน อยากรับประทานตอนไหนก็ได้ตามใจ แต่รู้หรือไม่ว่า หากรับประทานวิตามินในเวลาที่เหมาะสม สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวิตามินได้…

เช่นเดียวกันกับ แคลเซียม(Calcium) ซึ่งมีจำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟัน โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ที่มีช่วงอายุ 19 – 50 ปี ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับคือ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากคุณแม่ท่านใดได้รับปริมาณแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องประทานแคลเซียมค่ะ

ขอบคุณภาพจาก http://www.vivo.colostate.edu/hbooks/pathphys/digestion/smallgut/absorb_minerals.html

เวลาที่เหมาะสมของการรับประทานแคลเซียมจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของเกลือ หากเป็นแคลเซียม คาร์บอเนต (Calcium carbonate) แนะนำให้รับประทานก่อนอาหารเช้า หรือพร้อมอาหารเย็น เนื่องจากต้องการภาวะกรดของกระเพาะอาหารในการแตกตัวและดูดซึมที่ดีขึ้น แต่แคลเซียมที่ดูดซึมง่ายกว่าและไม่ต้องการภาวะกรดในกระเพาะอาหารในการแตกตัวเพื่อการดูดซึม จะอยู่ในรูปเกลือซิเทรท หรือที่เรียกว่าแคลเซียม ซิเทรท (Calcium citrate) นั่นเองค่ะ

ส่วนธาตุเหล็ก(Ferrous) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดง การให้ธาตุเหล็กเสริมระหว่างตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีภาวะซีดคือ 15 – 30 มิลลิกรัมต่อวัน แต่สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรที่จะได้รับการเสริมธาตุเหล็ก 30 – 120 มิลลิกรัมต่อวัน จนกระทั่งความเข้มข้นของเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

และควรรับประทานธาตุเหล็ก(Ferrous) ตอนท้องว่างดีที่สุด หรืออาจรับประทานก่อนอาหารพร้อมกับดื่มน้ำส้มเพราะวิตามินซีจากน้ำส้มจะช่วยเพิ่มการดูดซึมของเหล็กได้ แต่ไม่ควรรับประทานพร้อมเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสมอยู่ เช่น ชาหรือกาแฟ เนื่องจากจะไปลดการดูดซึมของเหล็ก

ขอบคุณภาพจากhttp://www.vivo.colostate.edu/hbooks/pathphys/digestion/smallgut/absorb_minerals.html

นอกจากนี้ยาที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม, แคลเซียม หรือแมกนีเซียม ก็สามารถลดการดูดซึมของธาตุเหล็กลงได้ถึง 30-40% เนื่องจากแคลเซียม คาร์บอเนต (Calcium carbonate) จะไปเพิ่มความเป็นด่างในกระเพาะอาหาร โดยเกลือ Carbonate ของ Calcium จะไปจับกับ Ferrous ได้เป็นสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้การดูดซึมของธาตุเหล็กลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของของแคลเซียมหรือเกลือแร่อื่นที่รับประทานเข้าไปพร้อมกัน ถ้ารับประทานในปริมาณไม่มากคงมีผลลดการดูดซึมธาตุเหล็กไม่มากนัก

ในกรณีคุณแม่ที่ได้รับยาแคลเซียมและยาธาตุเหล็ก ซึ่งในฉลากยาอาจแนะนำให้รับประทานเวลาเดียวกัน ก็สามารถเลี่ยงปฎิกิริยาระหว่างยาได้ คือ รับประทานห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจะรับประทานยาตัวใดก่อนหรือหลังก็ได้

แต่หากคุณแม่ท่านใดที่รับประทานพร้อมกันไปแล้วก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะไม่ส่งผลทางการรักษาที่แตกต่างกันมากนัก แต่ถ้าอยากได้ประสิทธิภาพสูงสุดจากวิตามินที่รับประทานไป การเลือกรับประทานในเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสม น่าจะดีต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มากกว่าค่ะ

แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, theAsianparent thailand, Absorption of Minerals and Metals

Facebook Comments

You may also like