เมลาโทนิน (Melatonin) กับการนอนไม่หลับ เกี่ยวข้องกันอย่างไร

โดย Pong Jira

ในปัจจุบันปัญหา “การนอนไม่หลับ” ถือว่าเป็นปัญหาทั่วไป ที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยรุ่น ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งผู้คนต่างๆ ก็พยายามหาวิธีที่จะทำให้ตนเองพ้นจากภาวะดังกล่าว โดยหนึ่งในทางเลือกที่นิยมกันในปัจจุบันนี้ คือ การรับประทานอาหารเสริมเมลาโทนิน

เมลาโทนิน คืออะไร ???

Melatonin Structure

โครงสร้างทางเคมีของเมลาโทนิน

เมลาโทนิน (Melatonin) คือ  ฮอร์โมนธรรมชาติในร่างกายของมนุษย์ ถูกผลิตและปลดปล่อยออกมาจากต่อมไพเนียล (Pineal gland) มีหน้าที่ในการส่งสัญญาณการนอนหลับให้แก่ร่างกาย
การผลิตและปลดปล่อยเมลาโทนินนั้นจะขึ้นกับช่วงเวลาของวัน ซึ่งระดับเมลาโทนินจะสูงขึ้นในเวลากลางคืน และลดต่ำลงในเวลากลางวัน โดยการที่เราได้รับแสงในเวลากลางคืนมีผลยับยั้งการผลิตเมลาโทนินในสมองได้

Circadin® (Melatonin 2 mg) ยาเมลาโทนินซึ่งถูกขึ้นทะเบียนในไทยให้เป็นยาอันตราย

ในประเทศไทย เมลาโทนิน ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย ในชื่อการค้า Circadin®* ซึ่งมีตัวยาสำคัญคือ Melatonin 2 mg มีข้อบ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะการนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary Insomnia)** ที่มีอายุ 55 ปี ในระยะสั้น (ระยะเวลาการใช้ยาติดต่อกันไม่เกิน 13 สัปดาห์) เช่นเดียวกับหลายประเทศในแถบยุโรป

ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้ให้เมลาโทนิน ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริม (Dietary Supplement) ซึ่งไม่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคเหมือนดังเช่นเมลาโทนินในประเทศไทย

* ยา Circadin® เป็นยาในรูปแบบ Prolonged release tablet ควรรับประทานยาทั้งเม็ดครั้งเดียว ไม่ควรหัก บด หรือแบ่งยาก่อนรับประทาน
** ภาวะการนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary Insomnia) คือ ภาวะการนอนไม่หลับ ที่ไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้ยา, อาการทางจิตประสาท หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น Jet lag หรือความไม่สบายใจบางอย่าง เป็นต้น

+ เมลาโทนินและผลต่อการนอนหลับ + 

Sleep with Clock

จากการศึกษาเมลาโทนินต่อผลการนอนหลับเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (Placebo) พบว่าเมลาโทนินมีประสิทธิภาพในการช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้นในผู้ทดลอง ดังนี้

  • ระยะเวลาตั้งแต่การปิดไฟจนเข้าสู่ระยะการหลับ (Sleep latency) ลดลง คือการที่ผู้ทดลองได้รับเมลาโทนิน ทำให้นอนหลับได้ไวขึ้น
  • ระยะเวลาการนอนรวมทั้งหมด (Total sleep time) เพิ่มขึ้น คือการที่ผู้ทดลองได้รับเมลาโทนิน ทำให้นอนหลับได้นานขึ้น
  • คุณภาพในการนอน (Quality of sleep) ดีขึ้น
  • จำนวนครั้งของการตื่นระหว่างนอนหลับ (Number of awakenings) ลดลง
  • ความตื่นตัวในตอนเช้า (Morning alertness) ดีขึ้น

อาการข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบได้จากการใช้เมลาโทนิน

  • ปวดศีรษะ (Headache)
  • เยื่อบุโพรงจมูกและลำคออักเสบ (Nasopharyngitis)
  • ปวดหลัง (Back pain)
  • ปวดข้อ (Arthralgia)
  • ง่วงซึม (Drowsiness) หากได้รับเมลาโทนินในปริมาณที่สูงเกินไป
  • เลือดออกผิดปกติ (Bleeding disorder)
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น (Diabetes)
  • ความดันเลือดสูงขึ้น (High blood pressure)
  • กระตุ้นอาการชักในผู้ป่วยลมชัก (Seizure)

การใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม

  • ผู้ป่วยเด็ก หรือวัยรุ่นที่มีอายุ < 18 ปี: ยังไม่มีผลการศึกษาความปลอดภัยในผู้ป่วยเด็กหรือวัยรุ่นที่มีอายุ < 18 ปี จึงไม่แนะนำให้ใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • ผู้ป่วยสูงอายุ: ผู้ป่วยสูงอายุจะสามารถกำจัดเมลาโทนินได้ลดลง จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
  • ผู้ป่วยโรคไต: ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตลดลง พบว่าไม่มีผลต่อการกำจัดเมลาโทนินออกจากร่างกาย แต่จากสภาวะของร่างกาย การใช้เมลาโทนินควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
  • ผู้ป่วยโรคตับ: ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับลดลง จะสามารถกำจัดเมลาโทนินได้ลดลง จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
  • ผู้ป่วยตั้งครรภ์ และผู้ป่วยให้นมบุตร: ยังไม่มีผลการศึกษาความปลอดภัยในผู้ป่วยตั้งครรภ์ และ/หรือผู้ป่วยให้นมบุตร จึงไม่แนะนำให้ใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยกลุ่มนี้

การใช้เมลาโทนินร่วมกับยาอื่น

เมลาโทนินถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยใช้เอนไซม์ในตับ เช่นเดียวกับยาอื่นๆ หลายชนิด จึงอาจมีผลทำให้เมลาโทนินในร่างกายถูกกำจัดลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างยาที่มีผลได้แก่

  • ยา Cimetidine และยาฆ่าเขื้อในกลุ่ม Quinolone มีผลทำให้ระดับเมลาโทนินในร่างกายสูงขึ้นได้
  • ยา Carbamazepine และ ยา Rifampicin  มีผลทำให้ระดับเมลาโทนินในร่างกายลดต่ำลงได้

ดังนั้นการใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นๆ ร่วมด้วยจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร

+ ควรใช้เมลาโทนินหรือไม่ หากนอนไม่หลับ +

จากการศึกษาพบว่าเมลาโทนินมีประสิทธิภาพในการช่วยเรื่องการนอนไม่หลับ ในผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวได้จริง แต่เมลาโทนินก็มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ร่วมกับมีผลต่อยาอื่นๆ ที่ใช้เป็นยาประจำตัวของผู้ป่วยได้ ก่อนใช้เมลาโทนินจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายของผู้ป่วย และไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้ออาหารเสริมเมลาโทนินจากต่างประเทศมารับประทานเอง เนื่องจากอาหารเสริมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยถือว่าเป็นอาหารเสริมผิดกฎหมาย อาจทำให้ได้รับอันตรายจากการใช้อาหารเสริมดังกล่าวได้

ทางเลือกอื่นๆ หากนอนไม่หลับ

Fruit high of vitamin

  • การรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามิน และกรดอะมิโน Tryptophan สูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิต Melatonin ภายในร่างกาย เช่น กล้วย, ข้าวโอ๊ต, สับปะรด, ส้ม, มะเขือเทศ, เชอรี่ และถั่ว เป็นต้น
  • การมีสุขอนามัยการนอนที่ดี (Sleep hygiene)
    • การเข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน
    • การทำให้สภาวะห้องนอนเงียบ ปิดไฟ ผ่อนคลาย และมีอุณหภูมิที่เหมาะสม
    • ไม่ดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ระหว่างเข้านอน
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือมีแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
    • ออกกำลังกายทุกวัน จะช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหรือเภสัชกร เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

แปลและเรียบเรียงโดย : อยู่กับยา

แหล่งข้อมูล: Meta-analysis: melatonin for the treatment of primary sleep disorders.Melatonin: In DepthMelatonin and SleepCircadin (MIMS)Circadin Product information (1)Circadin Product information (2)Tips for Better Sleep

Facebook Comments

You may also like