ทำไมคนไข้ที่กินยาวาร์ฟารินจึงไม่ควรกินมะม่วง?

โดย Boontharika Boonchaisaen

ช่วงนี้สังเกตว่าคนไข้คลินิกวาร์ฟารินมักจะมาด้วยค่าเลือดที่ผิดปกติ (INR out of target) ส่วนใหญ่จะมาด้วยค่าเลือดที่สูง จากการสอบถามเรื่องประวัติการกินอาหาร หลายเสียงตอบเหมือนกันว่า “กินมะม่วงมาค่ะ/ครับคุณหมอ” บางคนกินวันละสามถึงสี่ลูกก็มี เพราะฤดูนี้เป็นฤดูกาลแห่งผลไม้ไงล่ะคะ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด เงาะ หรือแม้แต่มะม่วง พออ่านมาถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจสงสัยว่ายาวาร์ฟารินคืออะไร? แล้วมะม่วงเกี่ยวอะไรกับยาวาร์ฟาริน? งั้นเรามาทำความรู้จักยาวาร์ฟารินไปพร้อมๆกันเลยดีกว่าค่ะ…

ยาวาร์ฟาริน(Warfarin) คืออะไร

เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดซึ่งอาจไปอุดตันตามเส้นเลือดของร่างกาย เช่น สมอง ปอด ขา หรือท่ีลิ้นหัวใจเทียมได้ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5 ความแรง คือ 1, 2, 3, 4, 5 mg ซึ่งแต่ละความแรงก็จะมีสีของเม็ดยาที่ต่างกันไป ดังนั้น คนไข้จึงควรสังเกตสีเม็ดยาและความแรงที่ใช้ทุกครั้ง เพื่อผลดีต่อการรักษาและความปลอดภัยในการใช้ยาค่ะ

ข้อบ่งใช้ที่สำคัญของยาวาร์ฟาริน มีดังนี้

  1. หลังผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม
  2. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  3. โรคลิ้นหัวใจรูมาติก
  4. ประวัติเส้นเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือด
  5. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดในปอด, แขนหรือขา
  6. ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

กลไกการออกฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน

ยาวาร์ฟาริน ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์วิตามินเค ซึ่งเป็นวิตามินที่ทำให้เกิดกระบวนการจับตัวของลิ่มเลือด จึงสามารถชะลอและป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดจากการเกิดลิ่มเลือดได้

ข้อควรปฏิบัติในคนไข้ที่กินยาวาร์ฟาริน

  • ต้องมาตรวจเลือดเป็นระยะตามแพทย์สั่ง เพื่อติดตามค่าการแข็งตัวของเลือดที่เรียกว่า ไอเอ็นอาร์ (INR หรือ International Normalized Ratio)

ค่า INR คือ ค่าบอกถึงประสิทธิภาพของการรักษาด้วยยาวาร์ฟาริน และเป็นค่าที่แพทย์ใช้พิจารณาในการปรับขนาดยา ซึ่งควรอยู่ในช่วง 2-3 ในคนไข้ที่ไม่ได้ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และ 2.5-3.5 ในคนไข้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

ถ้าค่า INR น้อยเกินไป(ต่ำกว่า 2, 2.5) อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ลิ้นหัวใจเทียมหรือเส้นเลือดต่างๆ โดยเฉพาะเส้นเลือดในสมอง และนำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

แต่ถ้าค่า INR มากเกินไป(มากกว่า 3, 3.5) อาจทำให้เลือดออกผิดปกติเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

  • ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกผิดปกติ (เลือดออกตามไรฟันที่นานกว่า 10 นาที รอยจ้ำเขียวตามตัว เลือดกำเดาไหล เลือดออกในตาขาว อุจจาระหรือปัสสาวะมีเลือดปน ไอจามเป็นเลือด) และอาการลิ่มเลือดอุดตัน (อาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ตามัวมองเห็นภาพไม่ชัด) เป็นต้น
  • ในกรณีที่ต้องผ่าตัดหรือถอนฟัน ต้องแจ้งศัลยแพทย์หรือทันตแพทย์ทุกครั้งก่อนทำหัตถการ เพื่อป้องกันภาวะเลือดไหลไม่หยุด
  • ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ
  • ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจมีการกระทบกระแทกรุนแรงหรือบาดเจ็บได้ง่าย
  • หากต้องการมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะยามีผลต่อทารกในครรภ์

ปัจจัยที่มีผลต่อยาวาร์ฟาริน

ยาบางชนิดมีผลทำให้ระดับยาวาร์ฟารินในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ดังนี้

  • ยาที่เพิ่มฤทธิ์ของวาร์ฟาริน เช่น ยาแก้ปวด(Piroxicam, Indomethacin) หรือยาฆ่าเชื้อ(Co-trimoxazole, Ciprofloxacin)
  • ยาที่ลดฤทธิ์ของวาร์ฟาริน เช่น ยากันชัก(Carbamazepine, Phenytoin) หรือยาฆ่าเชื้อ(Rifampicin, Dicloxacillin)

อาหารบางชนิดมีผลทำให้ระดับยาวาร์ฟารินในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ตามรูปข้างล่าง

แต่หากรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ควรเปลี่ยนแปลงปริมาณอาหารที่รับประทานจากเดิม เนื่องจากจะส่งผลให้ค่า INR เปลี่ยนแปลงไปได้ค่ะ

โรคร่วม

  • ไข้, Hyperthyroidism, ภาวะติดเชื้อ ทำให้เพิ่มฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน
  • Hypothyroidism มีผลลดฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน

พันธุกรรม

จากข้อมูลที่ได้กล่าวไปข้างต้น หลายคนน่าจะพอรู้จักยาวาร์ฟารินกันบ้างแล้ว และคงหายสงสัยว่า มะม่วงมีผลอะไรกับยาวาร์ฟาริน สำหรับในคนไข้บางรายที่ค่าเลือดผิดปกติอาจมาจากหลายสาเหตุเช่น ภาวะโรคร่วม หรือ พฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นต้น

ทำไมคนไข้ที่กินยาวาร์ฟารินจึงไม่ควรกินมะม่วง?

จากข้อมูลในตารางเรื่องอาหารบางชนิดมีผลทำให้ระดับยาวาร์ฟารินในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ข้างต้น อาจจะพอทราบว่าเหตุผลที่ทำให้คนไข้วาร์ฟารินไม่ควรกินมะม่วงคือ อาจเสริมฤทธิ์การทำงานของวาร์ฟารินและทำให้ค่าเลือด(INR)สูงขึ้นได้

เนื่องจากมีการศึกษาเรื่อง Warfarin and its interactions with foods, herbs and other dietary supplements รายงานว่า การกินมะม่วงวันละ 1-6 ลูกติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน ถึง 1 เดือน หลังจากเจาะเลือดพบว่า ค่าเลือด(INR) สูงขึ้นประมาณ 38 % อาจเกิดจากวิตามิน A ในมะม่วงที่เพิ่มสูงขึ้น อาจไปยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงยาวาร์ฟารินในร่างกาย ยาจึงไม่ถูกขับออก และส่งผลให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้น ได้

ดังนั้นหน้าที่ของเภสัชกรคือ…

หาสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าว เพื่อช่วยแพทย์ในการประเมินการสั่งใช้ยา และเพื่อความปลอดภัยของคนไข้ทุกคนนั่นเองค่ะ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : thaiheart.0rg Warfarin and its interactions with foods, herbs and other dietary supplements

 

Facebook Comments

You may also like