เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของการพัฒนายารักษาโควิด-19 ก็น่าจะคุ้นหูกับชื่อยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) กันมาบ้างแล้ว ซึ่งบางสำนักข่าวก็ให้ความเห็นว่ายานี้อาจเข้ามาเปลี่ยนโลก หรือไม่ก็อาจเข้ามาแทนที่ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งใช้รักษาโควิด-19 ในปัจจุบัน แต่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกได้จริงหรือไม่นั้น ต้องรอติดตามข่าวกันต่อไปค่ะ
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) คืออะไร
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต้านไวรัส พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ได้เริ่มการพัฒนายาที่มหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) โดยบริษัทนวัตกรรมยา ไดร์ฟ (Drug Innovation Ventures at Emory; DRIVE) ของทางมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงถูกซื้อลิขสิทธิ์โดยบริษัท ริดจ์แบ็ก ไบโอเทราพิวติกส์ (Ridgeback Biotherapeutics) ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมมือกับบริษัทเมอร์ค (Merck & Co.) ประเทศเยอรมนี เพื่อผลิตยาดังกล่าวขึ้น
จากการศึกษาพบว่า ยามีฤทธิ์ต่อต้านไวรัสโคโรนาหลายชนิด เช่น ซาร์ (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS) โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome หรือ MERS) และโควิด-19 (COVID-19)
โดยกลไกการออกฤทธิ์ของ ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) นั้นคล้ายกับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คือ ยาจะเข้าไปยับยั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของไวรัส SARS CoV2 ด้วยกระบวนการที่ชื่อว่า lethal mutagenesis หรือ การกลายพันธุ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมที่อาจทำให้เกิดการตายขึ้นได้ ส่งผลให้การสร้างสารพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดนั่นเอง
ประสิทธิภาพในการรักษาของยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)
ปัจจุบันยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) มีสถานะเป็นยาต้านไวรัสทดลอง อยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 และอยู่ระหว่างการพิจารณาให้การรับรองขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) จากผลการศึกษาที่บริษัทเมอร์คได้เผยให้ทราบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พบว่า
ในจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งสิ้น 775 ราย :
- มีผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) 7.3% ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก 14.4% ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
- ไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) แต่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 8 ราย เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ซึ่งทางบริษัท ริดจ์แบ็ก ไบโอเทราพิวติกส์ และบริษัทเมอร์ค ได้ยืนยันประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ว่า สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการนอนโรงพยาบาลนานๆ หรือช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้เกือบ 50% เมื่อเทียบกับยาหลอก
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)แตกต่างจากยาตัวอื่นที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 อย่างไร
อ.ภญ.โชติรัตน์ นครานุรักษ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเสวนาหัวข้อ การกระจายวัคซีนระบบสิทธิบัตร “เอื้อ” หรือ “ขัดขวาง” การเข้าถึงยา : กรณียาฟาวิพิราเวียร์ ไว้ว่า
“ปัจจุบันมียาที่สามารถใช้ในการรักษาโควิด -19 อยู่ 3 ชนิด คือ ยา Favipiravir และ Remdesivir มีการใช้ต่างกัน โดยผู้ป่วยกลุ่มอาการที่ยังไม่รุนแรงอยู่ขั้น 2-3 จะให้ยา Favipiravir เป็นยาเม็ด จะให้ยา 5 วัน สำหรับคนปกติ 50 เม็ดต่อคอร์สการรักษา แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.จะใช้ 64 เม็ดต่อคอร์สการรักษา ข้อดี คือ ผลลัพธ์การรักษาดี และจากการทดสอบไม่มีผลอาการข้างเคียงรุนแรง ขณะที่ยา Remdesivir เป็นยาฉีดจะใช้สำหรับผู้ป่วยขั้นที่ 4 ซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนแรงแล้ว คือ ปอดบวมและมีออกซิเจนน้อยกว่า 96% ส่วนยาใหม่ หรือ Molnupiravir นั้นจะสามารถใช้ได้เหมือนกันกับ Favipiravir”
ส่วนข้อแตกต่างด้านอื่น จากข้อมูลทางยาพบว่า การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) สามารถบริหารยาได้ทางปากหรือการรับประทานจึงง่ายและสะดวก หากผู้ป่วยต้องนอนสังเกตอาการเองที่บ้าน ซึ่งต่างจากยาเรมเดซิเวียร์ (Remdisivir) ที่ต้องให้ทางหลอดเลือดดำ จึงจำเป็นต้องมีพยาบาลและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล และนอกจากนี้ค่าใช้จ่ายต่อคอร์สการรักษารวม 5 วันยังถูกกว่ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdisivir) อีกด้วย คือประมาณ 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อราย หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 23,695 บาท
และหากเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในด้านการรักษาโควิด-19 พบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) จะเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อโควิด-19 มากกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) บริหารอย่างไร
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่ ที่ป่วยเป็นโควิด-19 ที่มีอาการอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยรับประทานวันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ประมาณ 40 เม็ดต่อคอร์สการรักษา แต่ไม่สามารถใช้เพื่อป้องกันการติดโควิด-19 หรือใช้ในรายที่มีอาการรุนแรงได้
ปัจจุบันความคืบหน้าของการนำยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เข้ามาในไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดว่าน่าจะมาถึงไทยราวเดือน ธ.ค. นี้ หากได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และมีแผนจัดซื้อประมาณสองแสนเม็ด ซึ่งราคายาอาจสูงถึง 10-14 เท่าของราคายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) กันเลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) จะเป็นความหวังใหม่ของมวลมนุษยชาติ แต่ทุกคนยังคงต้องป้องกันตนเองแบบ New normal ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เช่นเดิม
และที่สำคัญการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด ยังคงเป็นป้อมปราการสำคัญเนื่องจากจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงป้องกันการนอนโรงพยาบาลนานๆ และลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : BBC NEWS,