ยาใช้ภายนอก เช่น ยามหาหิงคุ์ ทำไมถึงไม่ควรนำมารับประทาน

โดย Boontharika Boonchaisaen

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวที่เห็นแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก เกี่ยวกับคุณแม่มือใหม่ ที่นำยามหาหิงคุ์ให้ลูกน้อยรับประทานด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนเป็นเหตุให้ลูกน้อยเสียชีวิต จากข่าวนี้สงสัยกันไหมคะว่า ทำไมเด็กคนนี้ถึงเสียชีวิต แล้วทำไมที่ข้างบรรจุภัณฑ์ของยาบางชนิด ถึงต้องระบุว่า “ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน” วันนี้ทีมงานอยู่กับยามีคำตอบมาเฉลยค่ะ

news

ขอบคุณภาพข่าวจาก https://news.ch7.com/detail/338408

มาทำความรู้จักยาใช้ภายนอกกันก่อนดีกว่า

ยาใช้ภายนอก หรือ External use drug เป็นยาที่ใช้เพื่อหวังผลในการรักษาเฉพาะที่ โดยทั่วไปไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดการดูดซึมผ่านเข้ากระแสเลือด แต่ต้องการให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ ได้แก่ ยาทา(เช่น ยาน้ำ ครีม ขี้ผึ้ง) ยาหยอด(เช่นยาหยอดหู ยาหยอดตา) ยาดม ยาชำระล้างบาดแผล เป็นต้น

ประเภทของยาใช้ภายนอก

ยาใช้ภายนอกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ยาใช้ภายนอกที่ไม่เป็นยาอันตราย (External Use – Non dangerous Drug) ได้แก่ ยาทั่วไปชนิดสำหรับใช้ภายนอก ที่ไม่ได้อยู่ในยากลุ่ม/หมวด วัตถุออกฤทธิ์, ยาเสพติด, ยาควบคุมพิเศษ, หรือ ยาอันตราย โดยมี เภสัชกร, ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์), ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาทันตกรรม, การผดุงครรภ์, หรือการพยาบาล เป็นผู้ควบคุมการขายยาให้ปลอดภัยตามหลักวิชาและตามมารยาทแห่งวิชาชีพ

ยาใช้ภายนอกที่ไม่เป็นยาอันตราย สามารถโฆษณาแสดงสรรพคุณยาโดยตรงต่อประชาชนทั่วไปได้ เช่น การโฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ สื่ออินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่น

  • ยาใช้ภายนอกที่เป็นยาอันตราย (External Use – Dangerous Drug) ร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ขายยาประเภทนี้ต้องทำบัญชียาอันตรายแต่ละชนิดยา โดยแสดงเลขที่หรืออักษรของครั้งที่ผลิต ชื่อและปริมาณยา ตลอดจนวันเดือนปีที่ขายและมีเภสัชกรให้คำแนะนำตามสมควรเกี่ยวกับการใช้ยาอันตรายให้ปลอดภัยตามหลักวิชาและตามมารยาทแห่งวิชาชีพ

ที่กล่องบรรจุยาจะต้องมีคำว่า “ยาอันตราย” ด้วยตัวอักษร “สีแดง” และที่ฉลากยาด้วย นอกจากนี้จะต้องมีคำว่า ‘ยาใช้ภายนอก’ หรือ ‘ยาใช้เฉพาะที่’ หากยานั้นเข้าข่ายยาใช้ภายนอกหรือยาใช้เฉพาะที่

ยากลุ่มนี้ “ไม่สามารถ”โฆษณาแสดงสรรพคุณโดยตรงต่อประชาชนทั่วไปได้ เช่น การโฆษณา ทางโทรทัศน์ วิทยุ สื่ออินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ

ยาใช้ภายนอกยกตัวอย่างเช่น ยามหาหิงคุ์ รับประทานได้หรือไม่

หลายคนอาจสงสัยว่า ยาใช้ภายนอก เอามารับประทานได้หรือไม่ และจากกรณีการเสียชีวิตของเด็กคนหนึ่งจากการรับประทานยามหาหิงคุ์ นั้นเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

เมื่อพูดถึงยามหาหิงคุ์ หลายคนคงเคยได้ยินหรือเคยใช้ในเด็ก แก้อาการท้องอืดหรือปวดท้องกันมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีคำแนะนำจากผู้ใหญ่บางท่านแนะนำว่า ถ้าทาแล้วไม่หายก็ให้หยดใส่น้ำให้เด็กกินไปเลย

ซึ่งในทางทฤษฎี ทิงเจอร์มหาหิงคุ์นั้นมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่เป็นปริมาณมาก  อาจทำให้เด็กได้รับแอลกอฮอล์โดยไม่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็กได้

และหากจำเป็นต้องใช้ยามหาหิงคุ์ทา ควรทาเฉพาะที่ในสถานที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก หรือที่หลายๆ คนได้ลองทำแล้วก็คือ หลังจากทายาที่ท้องแล้ว ใช้ผ้าอ้อมห่อบริเวณท้องเด็ก ก็อาจช่วยให้ท้องอุ่น ช่วยเสริมการออกฤทธิ์ของยาได้ดีขึ้น

ยาใช้ภายนอก ชื่อก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่า “ควรใช้ภายนอกร่างกาย” แต่อย่างไรก็ตาม ผิวหนัง ก็สามารถดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดได้เช่นกัน ถึงแม้จะในปริมาณน้อยกว่ายารับประทาน ดังนั้น การใช้ “ยาใช้ภายนอก” บ่อยๆ ควรคำนึงถึงอันตราย ที่อาจเกิดจากการสะสมเข้าสู่ร่างกายด้วย และการใช้ยาทา ควรทาบางๆเท่านั้น และ ไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากส่วนผสมบางชนิดในยาใช้ภายนอก อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลเสียที่อาจตามมาจากการใช้ยาด้วยจะดีมากเลยค่ะ

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งข้อมูล : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลFda Thai

Facebook Comments

You may also like