FDA อนุมัติแล้ว Aimovig ยาป้องกันไมเกรนรุ่นใหม่ ความหวังของผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรัง

โดย Boontharika Boonchaisaen
aimovig_migraine

ข่าวดีสำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาปวดศีรษะเรื้อรังจากไมเกรน เนื่องจากเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(FDA)เผยว่า ได้อนุมัติยาป้องกันไมเกรนรุ่นใหม่ ความหวังของผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรังแล้ว ยาตัวนี้มีชื่อเรียกทางการค้าว่า Aimovig (อิโมวิก) ซึ่งผลิตโดย Novartis บริษัทยายักษ์ใหญ่นั่นเองค่ะ

มาทำความรู้จักโรคไมเกรนกันก่อนดีกว่า

headache

ไมเกรน เป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักพบมากในช่วงอายุ 10-45 ปี เป็นโรคที่เรื้อรังเป็นๆหายๆ ผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนมักมีอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น หรือในช่วงอายุประมาณ 20 ปี และโดยปกติจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

สาเหตุของการเกิดไมเกรน

ไมเกรน มีสาเหตุจากหลายอย่าง ดังนี้

  • ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
  • ปัจจัยกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ยกตัวอย่างเช่น มีแสงสว่างจ้าเข้าตา, อยู่ในที่ๆมีเสียงอึกทึก, การสูดดมกลิ่นฉุนแรง, การดื่มกาแฟมากเกินไป, ยานอนหลับ, อยู่ในที่ๆมีอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป, ความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์, ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, การมีประจำเดือนของผู้หญิง, การอดนอน, การออกกำลังกาย
migraine

ขอบคุณภาพจาก https://edition.cnn.com/2018/05/18/health/migraine-treatment-fda-bn/index.html?no-st=1526744333

ซึ่งสาเหตุต่างๆเหล่านี้ ส่งผลให้มีการหดและขยายตัวอย่างผิดปกติของหลอดเลือดแดงทั้งภายใน และภายนอกกะโหลกศีรษะ โดยอาการปวดศีรษะนั้นมีสาเหตุมาจากการขยายตัวผิดปกติของหลอดเลือดแดงบริเวณนอกกะโหลกศีรษะ ส่วนอาการนำก่อนปวดไมเกรนเป็นผลจากการหดตัวผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่สมอง หรือที่จอตาประสาทตานั่นเองค่ะ

อาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดขึ้นได้อย่างไร

migraine

ขอบคุณภาพจาก http://www.doctorkorea.com

อาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทสมอง โดยมีโครงสร้างอย่างน้อย 3 ส่วนในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ ก้านสมอง (brain stem), เส้นเลือดในกะโหลกศีรษะ (cranial blood vessels)  และประสาทไทรเจมินัล (trigeminal nerve) ในระหว่างที่ปวดศีรษะโครงสร้างทั้ง 3 ส่วนนี้ใกล้ชิดกันมากเมื่อเกิดการขยายตัวของหลอดเลือด การปลดปล่อยสาร neuropeptide จากระบบประสาทส่วนปลาย เช่น substance P, neurokinase A หรือ calcitonin gene-related peptide รวมถึงทำให้เกิดอาการอักเสบ และปวดในที่สุด
นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท Serotonin (5-HT) ซึงเป็นสารเคมีที่มีความสำคัญที่สุดต่อการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยจะหลั่งจากแหล่งเก็บในระหว่างการเกิดไมเกรน ส่งผลให้เกิดการหดตัวหรือขยายตัวของหลอดเลือด การกระตุ้นการหลั่งของ serotonin ส่งผลให้มีการเพิ่มหรือลดการไหลเวียนของเลือดในสมอง นอกจากนี้ serotonin ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งผ่านความเจ็บปวดไปยังระบบอื่นๆในร่างกาย

ยา Aimovig ยาป้องกันไมเกรนรุ่นใหม่ ความหวังของผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรัง

aimovig

ขอบคุณภาพจาก https://www.npr.org/sections/health-shots/2018/05/18/612296263/new-type-of-drug-to-prevent-migraines-heads-to-market

Aimovig เป็นยาป้องกันไมเกรนรุ่นใหม่ที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(FDA)ได้ยอมรับให้ใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยยาตัวนี้ใช้ป้องกันอาการปวดไมเกรนได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น ซึ่งป้องกันได้ทั้งผู้ที่มีอาการปวดแบบรุนแรงเป็นครั้งคราว (episodic) คือเกิดขึ้นน้อยกว่า 15 วันใน 1 เดือน และเป็นเรื้อรัง (chronic) คือเกิดขึ้นมากกว่า 15 วันใน 1 เดือนค่ะ

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Aimovig

ยา Aimovig จะไปยับยั้งการทำงานของ calcitonin gene-related peptide ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ calcitonin gene-related peptide หรือ CGRP เป็น peptide ชนิดหนึ่งในตระกูล calcitonin ที่อยู่ในร่างกายมนุษย์
CGRP ถูกสร้างขึ้นจากเซลล์ประสาททั้ง peripheral and central neurons มีหน้าที่เป็นสารที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว(vasodilator) แลยังส่งกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดได้อีกด้วย

ยา Aimovig มีวิธีใช้อย่างไร

ยา Aimovig มีรูปแบบเป็นยาฉีด ซึ่งผู้ป่วยต้องฉีดเดือนละครั้ง และต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้นถึงสามารถใช้ได้ ลักษณะน่าจะคล้ายกับปากกาฉีดอินซูลิน ถ้าใครมีญาติหรือคนรู้จักเป็นเบาหวานน่าจะพอนึกภาพออกนะคะ แต่ขึ้นชื่อว่ายาใหม่ ย่อมมาพร้อมกับราคาที่สูงลิ่วอย่างแน่นอน เพราะข่าวรายงานว่า หากอยากใช้ยาตัวนี้ต้องสำรองเงินไว้ประมาณ $575 หรือ 18,475.34 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว และที่สำคัญน่าจะยังไม่มีใช้ในประเทศไทยนะคะ

ถ้าใครไม่สามารถสู้ค่าใช้จ่ายที่สูงขนาดนี้ได้อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เพราะยังมียาป้องกันไมเกรนตัวอื่นอีกและยังสามารถหาได้ในไทยด้วย แต่อาจต้องกินต่อเนื่องทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น ยากลุ่มสกัดเบต้า (ฺBeta-blocker), ยาต้านซีโรโตนิน (Anti-serotonin), ยาแคลเซียมแอนทาโกนิส (Calcium antagonist), กลุ่มยากันชัก และกลุ่มยาไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants)

ยาไมเกรน

ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ได้ปวดแบบเรื้อรังหรือปวดบ่อย อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาป้องกัน แต่ใช้ยารักษาแบบเฉียบพลันแทน ซึ่งในปัจจุบันมียารักษาไมเกรนแบบเฉียบพลัน ด้วยกันหลายกลุ่ม อาทิเช่น ยาแก้ปวดในกลุ่ม nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs),ยาในกลุ่ม ergots และยากลุ่ม triptans เป็นต้น

แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
Facebook Comments

You may also like