วันก่อนแอดมินรู้สึกถึงความผิดปกติของมดลูก จึงไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อขออัลตร้าซาวน์ดู ผลปรากฏว่า… ปกติดี ค่ะ โล่งใจไป แต่คุณหมอก็แนะนำว่า ช่วงนี้ถ้าวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรรับประทานกรดโฟลิกไว้ล่วงหน้าได้เลย ซึ่งเหตุผลอะไรที่คุณหมอแนะนำแบบนั้น สำหรับหญิงที่วางแผนตั้งครรภ์คืออะไร มาหาคำตอบไปพร้อมๆกันเลยค่ะ
มาทำความรู้จักกรดโฟลิกกันก่อนดีกว่า
โฟเลต หรืออีกรูปแบบหนึ่งที่รู้จักคือ กรดโฟลิก และ วิตามินบี9 เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง ที่ละลายในน้ำ โดยกลไกการทำงานของกรดโฟลิก จะเกี่ยวกับกระบวนการสร้างโคเอนไซม์ เช่นในกระบวนการสร้างพิวรีน (purine) และไพริมิดีน (pyrimidine) ซึ่งส่งผลต่อการบวนการสร้าง DNA และยังเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างและรักษานิวคลีโอโปรตีน (nucleoprotein) ในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยส่งเสริมการสร้างเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดในผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการพร่องโฟเลตอีกด้วย
กรดโฟลิก สำคัญอย่างไรต่อหญิงตั้งครรภ์
หญิงมีครรภ์ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จะเกิดผลเสียต่อตนเอง เนื่องจากทารกในครรภ์จะใช้สารอาหารจากเลือดของมารดานำไปสร้างร่างกายทดแทนอาหารที่ได้รับไม่เพียงพอ สารอาหารที่หญิงตั้งครรภ์ต้องการ ได้แก่ สารอาหารที่ให้พลังงาน โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดี รวมถึงกรดโฟลิกซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับสร้างกล้ามเนื้อ สร้างโครงกระดูก และสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงให้ทารก
ดังนั้นการรับประทานกรดโฟลิกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์จึงช่วยป้องกันความผิดปกติของทารก ได้แก่ ความผิดปกติของการปิดของท่อระบบประสาท หรือทางการแพทย์เรียกว่า Neural Tube Defect, NTD นั่นเองค่ะ
หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกเมื่อไหร่ และขนาดเท่าใดต่อวัน
หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา หรือ The Centers for Disease Control and Prevention (CDC) แนะนำว่า
ผู้หญิงที่วางแผนการตั้งครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกอย่างน้อย 1 เดือนก่อนที่จะตั้งครรภ์ และให้รับประทานอย่างต่อเนื่องขณะตั้งครรภ์จนถึงช่วงช่วงไตรมาสแรกหรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติของการปิดของท่อระบบประสาท(Neural Tube Defect) ได้ประมาน 50-70 %
อย่างไรก็ตามยังแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์สามารถรับประทานกรดโฟลิกทุกวัน เพื่อช่วยป้องกันการเกิด Neural Tube Defect ในกรณีที่ท้องแบบไม่ได้ตั้งใจนั่นเองค่ะ
ขนาดที่แนะนำ คือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน พร้อมน้ำ 1 แก้ว แนะนำให้รับประทานเวลาเดียวกันในทุกวัน และอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึม นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูงร่วมด้วย และการรับประทานกรดโฟลิกในขนาดสูงนั้น มีหลายการศึกษาที่พบว่า ไม่ได้มีผลต่อไต แต่อาจเกิดอาการข้างเคียงได้
อาหารประเภทใดบ้างที่มีโฟเลตสูง
นอกจาการรับประทานกรดโฟลิกแล้ว คุณผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ควรรับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูงร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ธัญพืชต่างๆ, ข้าวโพด, ผักใบเขียว, กล้วย หรือผลไม้ตระกูลส้ม เป็นต้น ล้วนแต่อุดมไปด้วยกรดโฟลิกทั้งสิ้น เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงของการเกิด Neural Tube Defect ของทารกในครรภ์แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วยค่ะ
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : The Centers for Disease Control and Prevention (CDC), คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล