ใครที่เคยไปเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือทำ CT Scan น่าจะพอคุ้นเคยกับสารทึบรังสีหรือ Iodinated Contrast Medium กันมาบ้าง เพราะในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้สารทึบรังสี (Iodinated Contrast Medium) เข้าไปในร่างกายเพื่อช่วยให้ภาพฉายในบริเวณต่าง ๆ ที่ต้องการตรวจเห็นได้ชัดเจนขึ้น โดยอาจใช้วิธีให้ผู้ป่วยดื่มสารทึบรังสีเข้าไป ฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือด หรือสอดสารทึบรังสีเข้าสู่ลำไส้ผ่านทางทวารหนัก
ซึ่งการให้ Iodinated Contrast Medium ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วยอาจต้องระวังเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น โรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง
แต่ผู้ป่วยอาจยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแจ้งประวัติยาโรคประจำตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่เข้าใจถึงปัญหาที่อาจตามมาได้
เพราะเหตุใด การรับประทานยา Metformin ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะไตเสื่อม จึงควรงดก่อนและหลังการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
รู้หรือไม่ว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยา Metformin นั้น หากต้องได้รับการทำ CT Scan ควรงดก่อนและหลังทำ CT Scan โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานที่มี serum creatinine มากกว่า 1.3 มก/ดล. เหตุผลเพราะ
ยา Metformin เมื่อรับประทานไปแล้ว ยาจะถูกขับออกทางไต ซึ่งสารทึบรังสีที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยเห็นภาพการตรวจที่ชัดเจนจะถูกขับออกทางไตเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้ามีการฉีดสารทึบรังสี และกินยากลุ่มนี้ร่วมกันจะทำให้เพิ่มภาวะการทำงานของไตมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อไต การงดยาเบาหวาน 1-2วัน ก่อนและหลังการตรวจจึงเป็นการช่วยยืดอายุการทำงานของไต
ส่วนยาเบาหวานตัวอื่นๆให้รับประทานได้ตามปกติ เนื่องจากยาเบาหวานอื่นๆนั้น บางตัวไม่ได้ถูกขับออกทางไต ดังนั้นวิธีที่ควบคุมเบาหวานที่ดีที่สุด คือ รับประทานอาหารแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้น และเพิ่มการรับประทานผักผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัด
นอกจากยา Metformin แล้ว ควรระวังยาในกลุ่มใดอีกบ้าง
นอกจากยา Metformin แล้ว ยังมียาบางกลุ่มที่อาจทำให้เกิดความสับสนในการวินิจฉัยและรักษาอาการไม่พึงประสงค์ของสารทึบรังสีได้ ยกตัวอย่างเช่น ยากลุ่มลดความดันโลหิต Beta-blockers และ ACE inhibitor เพราะยาเหล่านี้สามารถทำให้เกิดหัวใจเต้นช้า เต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ และหลอดลมหดตัวได้ จึงรบกวนการรักษาอาการของภาวะไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากสารทึบรังสี
อีกหนึ่งกลุ่มที่ควรระวังคือกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งมีหลายชื่อ ยกตัวอย่างเช่น Arcoxia, Celebrex, Naproxen ยาเหล่านี้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ เช่นเดียวกับMetformin ดังนั้นเหตุผลของการงดยาแก้ปวด NSAIDs จึงเป็นเหตุผลเดียวกับการงดยา Metformin นั่นเองค่ะดังนั้น ควรนำยาโรคประจำตัวเดิมติดตัวเวลามาโรงพยาบาล และแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการรักษาของผู้ป่วยเองนะคะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) AIMC.mahidol.ac.th คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น