เวลาปวดศีรษะข้างเดียว หลายคนอาจคิดว่าตัวเองกำลังปวดศีรษะไมเกรน จึงไปขอซื้อยาแก้ปวดไมเกรน ergotamine มารับประทาน แต่หารู้ไม่ว่า.. อาการปวดศรีษะไมเกรนอาจปวดศีรษะข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และอาการปวดศีรษะจากความเครียดหรือจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ อาจไม่ใช่อาการปวดศีรษะไมเกรนเช่นเดียวกัน ซึ่งการรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน อาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากรับประทานไม่ถูกวิธี
อาการปวดศีรษะไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง (Tension type headache) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า
มาทำความรู้จักอาการปวดศีรษะไมเกรนกันดีกว่า
อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura) พบมากที่สุด ในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura) อาการเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวก็ได้ ซึ่งอาการผิดปกติของการมองเห็นจะเคลื่อนที่อย่างช้าๆ ส่วนอาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการชาที่มือ-แขน หรือชารอบปาก, ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก, หรือมีอาการอ่อนแรงของแขน-ขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น
สาเหตุของโรคเชื่อว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือ ปัจจัยกระตุ้น(trigger factor)จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลทำให้หลอดเลือดแดง(vasodilation) ทั้งด้านในและด้านนอกกระโหลกเกิดการขยายตัวได้มากและง่ายกว่าคนปกติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะในที่สุด
ทำไมยาแก้ปวดไมเกรน Ergotamine ถึงไม่ให้กินเกิน 6 เม็ดต่อวัน หรือ 10 เม็ดต่อสัปดาห์
ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่ใช้กันบ่อยและมักพบปัญหานั่นคือยาแก้ปวดไมเกรน Ergotamine ซึ่งมีวางจำหน่ายในประเทศไทยหลายยี่ห้อ เช่น Cafergot®, Avamigran® Tofago® หรือ Poligot-CF® ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ คือ ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม ผสมกับ caffeine 100 มิลลิกร้ม ส่วนยี่ห้อ Ergosia® จะประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญเพียง ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม ตัวเดียวเท่านั้น
ยาแก้ปวดไมเกรน Ergotamine จะต้องใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนเด็ดขาด โดยในครั้งแรกให้รับประทาน 1 หรือ 2 เม็ด จากนั้นสามารถรับประทานซ้ำได้ครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้น
แต่ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามรับประทานยาเกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์ เนื่องจากหากรับประทานในปริมาณที่มากกว่านี้ อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมทั้งมีอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียนมากขึ้นได้
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาแก้ปวดศีรษะ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจปวดศีรษะเป็นประจำหรือบ่อยครั้ง โดยรับประทานยาพาราเซตามอลแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน และวินิจฉัยโรคเพื่อพิจารณายารักษาที่ถูกต้อง และแนะนำวิธีป้องกันอาการปวดศีรษะต่อไป
หรือหากเป็นการปวดศีรษะไมเกรนจริง แนะนำว่านอกจากการรับประทานยารักษาแล้ว ควรหาสาเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยประตุ้นที่จะทำให้ปวดศีรษะควบคู่ไปด้วยจะดีที่สุดค่ะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งข้อมูล : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , https://www.bangkokhospital.com