มีใครเคยสังเกตเห็นคำว่า UV index ในแอปพลิเคชันเช็คสภาพอากาศของสมาร์ตโฟนกันบ้างคะ แล้วทราบมั้ยคะว่า ค่า UV index มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ทำไมเราควรเช็คทุกครั้งก่อนออกบ้าน ยิ่งในช่วงหน้าร้อน ยิ่งอย่าลืมเช็คค่านี้เลย
UV index คืออะไร
UV index หรือ Ultraviolet index คือ ดัชนีรังสีอัลตราไวโอเลต เป็นการวัดมาตรฐานระดับสากลในเรื่องของการเผาของแดดโดยการแผ่รังสี ของรังสีอัลตราไวโอเลต ในพื้นที่หรือเวลานั้น ๆ หน่วยวัดได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาในปี พ.ศ. 2535 และได้นำมาปรับใช้ใหม่โดยองค์การอนามัยโลก และ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ของสหประชาชาติ ใน พ.ศ. 2537 ทำให้ปัจจุบันได้เป็นมาตรฐานในการพยากรณ์อากาศประจำวัน และ การพยากรณ์อากาศในรายชั่วโมง
UV index มีประโยชน์อย่างไร
เพื่อให้ผู้คนสามารถป้องกันตนเองจากรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งส่งผลในด้านสุขภาพเนื่องจากจะทำให้เกิดการเผาไหม้จากแดด, ภาวะแก่แดด, ผลกระทบต่อดีเอ็นเอ, มะเร็งผิวหนัง, ภาวะด้านภูมิคุ้มกัน และผลกระทบต่อตา เช่น ต้อกระจก โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้คนป้องกันตัวเอง (เช่น การป้องกันเมื่ออยู่กลางแดดด้วยการสวมหมวกและแว่นกันแดด) หากอยู่กลางแจ้งด้วยดัชนียูวีระดับ 3 ขึ้นไป
แล้ว UV index ระดับ 3 คืออะไร แล้ว UV index มีกี่ระดับ แต่ละระดับต่างกันยังไงนะ
5 ระดับ UV index ที่ควรรู้
ทางองค์การอนามัยโลกได้กำหนดมาตรฐานของ UV index โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ ซึ่งแต่ละระดับจะมีสีเฉพาะดังรูปด้านล่างนี้
- ระดับที่ 1 : 0–2.9 ความเสี่ยงต่ำ
การป้องกัน ควรสวมแว่นกันแดด ในวันที่ท้องฟ้าโปร่ง หรือใช้สารกันแดด หากพื้นมีหิมะ เพราะจะทำให้เกิดการหักเหของรังสียูวี
- ระดับที่ 2 : 3–5.9 ความเสี่ยงปานกลาง
การป้องกัน ควรระมัดระวังโดยการปกปิดผิว หากต้องอยู่กลางแจ้ง ให้หลีกเลี่ยงในช่วงเที่ยง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแสงมากที่สุด
- ระดับที่ 3 : 6–7.9 ความเสี่ยงสูง
การป้องกัน ปกปิดด้วยเสื้อผ้ากันแดด, ใช้สารกันแดดที่มีเอสพีเอฟ(SPF)มากกว่า 30, สวมหมวก, อยู่กลางแจ้งให้น้อยกว่า 3 ชั่วโมง, สวมแว่นกันแดด
- ระดับที่ 4 : 8–10.9 ความเสี่ยงสูงมาก
การป้องกัน ใช้สารกันแดดที่มีเอสพีเอฟ(SPF)มากกว่า 30, สวมเสื้อผ้ากันแดด, สวมแว่นกันแดด, สวมหมวกปีกกว้าง และไม่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
- ระดับที่ 5 : 11+ ความเสี่ยงรุนแรง
การป้องกัน ควรระมัดระวังอย่างมาก โดยใช้สารกันแดดที่มีเอสพีเอฟ(SPF)*มากกว่า 30, สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว, สวมแว่นกันแดด, สวมหมวกที่สามารถปกปิดได้มิดชิด และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งนานกว่า 3 ชั่วโมง
*หมายเหตุ เอสพีเอฟ(SPF) หมายถึง ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-B โดยใช้ตัวเลข แสดงระดับของประสิทธิภาพและความสามารถในการดูดซับรังสี UV-B
โดยปกติค่า UV INDEX ในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 8 – 14 ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและ ภูมิอากาศในแต่ละสถานที่ซึ่งในระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม 2562 นี้ จังหวัดที่ติดอันดับ UV index อยู่ในระดับความเสี่ยงสูงมากคือ เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, หนองคาย, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, นครราชสีมา, กาญจนบุรีและกรุงเทพมหานคร ค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้ พอจะทราบความสำคัญของ UV index กันแล้วใช่มั้ยคะ ดังนั้น ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง อย่าลืมเช็ค UV index เพื่อป้องกันตัวเองจากรังสีอัลตราไวโอเลตกันนะคะ
แสงแดด มีทั้งประโยชน์และโทษ ควรสัมผัสให้ถูกช่วงเวลา
ติดตามค่า UV index ของไทยได้ที่นี่
ติดตามค่า UV index ของโลกได้ที่นี่
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : ศูนย์โอโซนและรังสี, United States Environmental Protection Agency, Wikipedia