“ยาแก้ปวด” มันรู้ได้อย่างไรว่าเราปวดตรงไหน ???

โดย Pong Jira

กระทู้จากเว็บไซท์พันทิป (Pantip) ซึ่งมีหัวข้อว่า “ยาแก้ปวดมันรู้ได้อย่างไรว่าเราปวดตรงไหนคะ” โดยผู้ใช้ที่มีชื่อว่า “สมาชิกหมายเลข 3556069” มีเนื้อหาภายในกระทู้ ดังนี้

ยาแก้ปวดมันรู้ได้อย่างไรว่าเราปวดตรงไหนคะ

โดนลูกสาว 8 ขวบถามแบบนี้ แม่ไปไม่เป็นเลยค่ะ อธิบายอย่างไรให้เด็ก 8ขวบเข้าใจดีคะ ลูกบอกว่าสังเกตจากปวดหัวแม่ก็ให้กินยาแก้ปวด พ่อปวดฟันหมอก็ให้ยาแก้ปวด แม่ปวดขาไปหาหมอหมอก็ให้ยาแก้ปวด

ที่มาของกระทู้: https://pantip.com/topic/38549975

“ยาแก้ปวดมันรู้ได้อย่างไรว่าเราปวดตรงไหน” ทีมงานอยู่กับยาจะมาตอบคำถามนี้แบบสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ให้ทุกท่านได้เข้าใจกัน


โดยส่วนใหญ่แล้วยาที่เราได้รับเข้าไปในร่างกาย จะมีการออกฤทธิ์แบบไม่จำเพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์ของยานั้นๆ ว่าจะมีผลในระดับเซลล์และโมเลกุลอย่างไร

เช่น ยา A มีผลลดการสร้างและการทำงานของสาร X โดยที่สาร X นั้น พบและทำหน้าที่บริเวณสมอง กระเพาะอาหาร และระบบทางเดินหายใจ เมื่อเราได้รับยา A เข้าไป ทำให้สาร X มีการลดการทำงานลง ซึ่งจะส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ที่สาร X ทำหน้าที่อยู่ ได้แก่ สมอง กระเพาะอาหาร และระบบทางเดินหายใจ อาจเป็นได้ทั้งผลอันพึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลในการรักษา) และผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียงจากการใช้ยา)

ในขณะที่ยาบางชนิด เช่น ยารักษามะเร็งประเภทใหม่ จะมีการออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจง โดยเรียกว่า การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) ซึ่งจะทำให้มีผลการรักษาที่ดีขึ้น และช่วยลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้

ยาแก้ปวดที่เราใช้กันทั่วไปนั้น จะมีการออกฤทธิ์แบบไม่จำเพาะเจาะจง ดังนั้นผลจากการใช้ยาอาจจะพบได้มากกว่าหนึ่ง ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง ผลการรักษาและอาการข้างเคียงจากการใช้ยา

ขอยกตัวอย่างยาแก้ปวดในที่นี้เป็น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs : Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs) เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Mefenamic acid หรือ Aspirin ซึ่งมักเป็นยาบรรเทาอาการปวด อักเสบ และลดไข้ ที่พบได้บ่อย มีการใช้อยู่ทั่วไป เนื่องจากมีการหาซื้อได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการต่างๆ ได้ดี

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นยาที่มีการออกฤทธิ์แบบไม่จำเพาะเจาะจง มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Cyclooxygenase (COX) จึงมีผลลดการสร้าง พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ทำให้บรรเทาอาการปวด อักเสบและลดไข้ได้

พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เป็นสารประกอบที่สร้างจากไขมัน สามารถสร้างได้ที่เนื้อเยื่อเกือบทุกส่วนในร่างกายเมื่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดอาการอักเสบหรือได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวดตามมา โดย Prostaglandin จะมีอยู่หลายประเภท ซึ่งจะมีชื่อย่อแตกต่างกันออกไป

นอกจากหน้าที่ๆ เกี่ยวกับการอักเสบหรือบาดเจ็บแล้ว ยังมีหน้าที่อื่นๆ เช่น ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหดตัว (บีบตัว) ของกล้ามเนื้อเรียบบริเวณมดลูก ช่วยในการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยการทำงานของไต และช่วยปกป้องเยื่อบุทางเดินอาหาร (Cytoprotective effect)

เนื่องจาก Prostaglandin มีหน้าที่หลากหลาย ทำให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งมีการออกฤทธิ์ลดการสร้าง Prostaglandin นอกจากจะมีผลในเรื่องลดอาการปวด และอักเสบได้แล้ว ซึ่งเป็นผลการรักษาหลักแล้ว ยายังมีผลในด้านอื่นๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ Prostaglandin ในอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอีกด้วย

ผลของยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อื่นๆ สามารถแบ่งได้เป็น ผลอันพึงประสงค์จากการใช้ยา ได้แก่

  • ช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบบริเวณมดลูก ทำให้ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้
  • ช่วยลดการเกาะกลุ่มกันของเกร็ดเลือด เป็นผลให้มีการนำยามาใช้เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด (ASCVD)
  • ช่วยในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย จึงมีฤทธิ์ในการลดไข้ได้

ในขณะที่ ผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียงจากการใช้ยา) ได้แก่

  • ลดปริมาณเลือดที่เข้ามาเลี้ยงที่ไต ทำให้การทำงานของไตลดลง ส่งผลให้เกิดโรคไตตามมา
  • ลดการปกป้องเยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหาร มีความสามารถในการทนต่อกรดในกระเพาะอาหารได้ลดลง*

* ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีโครงสร้างเป็นกรด จึงมีโอกาสที่ยากัดกระเพาะได้มากขึ้นอีกด้วย

จึงสรุปได้ว่า

ยาแก้ปวดเป็นยาที่มีการออกฤทธิ์แบบไม่จำเพาะเจาะจง มันไม่ได้ทราบว่าเรามีอาการปวดที่บริเวณไหน แต่ตัวยาจะไปออกฤทธิ์กับเซลล์ทุกส่วนที่มีผลจากกลไกการทำงานของมัน เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) มีฤทธิ์ของยาในการบรรเทาอาการปวด อักเสบ และลดไข้ แต่ก็ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาตามมาด้วย คือ การทำงานของไตลดลง และเยื่อบุกระเพาะอาหารทนต่อกรดได้ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่ลดลงของ Prostaglandin จากกลไกการออกฤทธิ์ของยา NSAIDs นั่นเอง

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

 

แปลและเรียบเรียงโดย : อยู่กับยา

แหล่งข้อมูล : กระทู้ “ยาแก้ปวดมันรู้ได้อย่างไรว่าเราปวดตรงไหนคะ”โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin), ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ โดย พรทวี เลิศศรีสถิต และ สุชีลา จันทร์วิทยานุชิต,  The mechanisms of action of NSAIDs in analgesia.Mechanism of action ของ ParacetamolParacetamol (Acetaminophen): mechanisms of actionParacetamol: mechanism of action, applications and safety concern., ทรามาดอล (Tramadol) เหยื่อของการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์, การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy)freepik

Facebook Comments

You may also like