อีกหนึ่งคำถามที่คนไข้วาร์ฟารินมักสงสัยกัน นั่นคือ “เวลามีไข้หรือมีอาการปวด ควรกินยาตัวไหนดี” หรือ “สามารถกินยาตัวไหนได้ ที่ปลอดภัยในผู้ป่วยวาร์ฟาริน” และ “ยาพาราเซตามอล สามารถกินได้ไหม” เพราะยาวาร์ฟารินเป็นยาที่มักเกิดอันตรกิริยากับยาหลากหลายชนิด หรือพูดในภาษาที่เข้าใจง่าย นั่นคือ ตีกันกับยาได้หลายตัว ดังนั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้หลายคนรู้สึกวิตกกังวลได้ หากต้องใช้ยาวาร์ฟารินร่วมกับยาตัวอื่น.. วันนี้ทีมงานอยู่กับยา จึงอยากมาคลายความสงสัย ให้ได้ทราบไปพร้อมๆกันค่ะ
การใช้ยาพาราเซตามอลปลอดภัยหรือไม่ ในผู้ป่วยวาร์ฟาริน
จากการสืบค้นแหล่งข้อมูล พบการศึกษาที่รายงานว่า การกินพาราเซตามอลในผู้ป่วยวาร์ฟาริน อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออก(Bleeding)ผิดปกติ ในระดับ Moderate(การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาอาจทำให้อาการของโรคกำเริบได้ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย หรืออาจควรเลี่ยงไปใช้ยาอื่นรักษาแทน แต่หากจำเป็นต้องใช้ควรได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด)
ซึ่งกลไกการเกิดอันตรกิริยาดังกล่าว เนื่องมาจาก N-acetyl-p-benzoquinoneimine(NAPQI) ซึ่งเป็นสารที่ได้หลังการเปลี่ยนแปลงยา Paracetamol จะไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับสังเคราะห์วิตามินเค ซึ่งเป็นวิตามินที่ทำให้เกิดกระบวนการจับตัวของลิ่มเลือด และส่งผลให้เกิดการลดลงของสารเคมีที่เป็นปัจจัยในการสังเคราะห์วิตามินเค ดังนั้นจึงให้เกิดภาวะเลือดออกตามมาได้
ขนาดการใช้ยาที่แนะนำในผู้ป่วยวาร์ฟารินที่มีระดับ INR อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ไม่ควรเกิน 2 g/day หรือประมาณ 4 เม็ดต่อวันค่ะ และควรใช้ติดต่อกันไม่เกิน 1 สัปดาห์
แต่อย่างไรก็ตามควรมีการติดตามค่า INR อย่างใกล้ชิด หลังจากเริ่มใช้ยาประมาณ 4-5 วัน และควรมีการติดตามหรือเจาะวัดระดับ INR ซ้ำอีกครั้งหลังจากหยุดยาไปแล้วประมาณ 2 วัน เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วย
ถ้าหากใช้ยาพาราเซตามอลแล้วไม่ดีขึ้น สามารถกินยาแก้ปวดตัวไหนได้ในผู้ป่วยวาร์ฟาริน
มีรายงานจาก Clot Connect แนะนำว่า หากผู้ป่วยที่ใช้วาร์ฟารินมีอาการปวดในระดับกลางหรือรุนแรง สามารถใช้ Tramadol หรือ Morphine ได้และควรติดตามภาวะเลือดออกผิดปกติร่วมด้วย
แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม NSAIDs เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงของยา Warfarin(วาร์ฟาริน)ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวช้า, เลือดไหลไม่หยุด, อาจมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร, มีจ้ำเลือดตามร่างกาย หรือมีเลือดออกตามไรฟันได้มากขึ้น เป็นต้น
แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยา NSAIDs เป็นประจำ เช่น กรณีที่เป็นโรคข้ออักเสบ แนะนำให้แจ้งแพทย์ที่ให้การรักษาทราบ
อย่างไรก็ตามการใช้ยาแก้ปวด ลดอักเสบเกือบทุกชนิดร่วมกับยาวาร์ฟาริน ล้วนมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเลือดออก(Bleeding) ผิดปกติเพิ่มมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน แต่อาจต่างกันที่ระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังนั้น หากผู้ป่วยวาร์ฟารินที่มีอาการปวดร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนตัดสินใจใช้ยาแก้ปวด ลดอักเสบ ร่วมกับยาวาร์ฟาริน เพื่อความปลอดภัยจะดีกว่าค่ะ
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งข้อมูล : Drug interactions involving warfarin: Practice tool and practical management tips, Micromedex, แนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน, PubMed.gov