,วันก่อนมีพี่ชายที่สนิทกับแอดมินโทรมาปรึกษาว่า คุณแม่ของพี่เขามีอาการท้องเสีย มีไข้ร่วมด้วย เหมือนจะติดเชื้อ “แต่คุณแม่มีประวัติแพ้ยาซัลฟา จะสามารถกินยา Norfloxacin ได้หรือไม่?”
เชื่อว่า… ไม่เพียงแต่พี่ชายคนนั้นที่สงสัย น่าจะมีแฟนเพจอีกหลายคนที่เคยเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจเช่นกัน วันนี้ทีมงานอยู่กับยาจะมาไขข้อสงสัย ให้ได้ทราบไปพร้อมกันค่ะ
ยากลุ่มซัลฟา(Sulfa drugs) คือยาอะไร
ยาในกลุ่มซัลฟา(Sulfa drugs) เป็นการเรียกชื่อสั้นๆของกลุ่มยา ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีที่เรียกว่า “ซัลโฟนาไมด์” (Sulfonamide) ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และยังอาจใช้รักษาอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (UTIs) โรคหลอดลมอักเสบ, โรคตาติดเชื้อ, โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย, โรคปอดบวม, หูอักเสบ, แผลไหม้อย่างรุนแรงและท้องเสียจากการท่องเที่ยว (traveler’s diarrhea) เป็นต้น
ก่อนจะลงรายละเอียดว่า “ถ้าแพ้ยาซัลฟาแล้ว ต้องระวังยาตัวใดอีกบ้าง” เรามาทำความเข้าใจเรื่องการแพ้ยากันคร่าวๆก่อนดีกว่าค่ะ…
การแพ้ยา คืออะไร
แพ้ยาหรือ Drug Allergy หมายถึง ปฏิกิริยาที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป อาจพบเฉพาะอาการทางผิวหนัง หรือมีอาการในระบบอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งสามารถพบได้หลังจากรับประทานยาเพียงไม่กี่มื้อจนถึงรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตั้งแต่สองสัปดาห์ถึงหกเดือน
บางรายอาจพบอาการทางผิวหนังที่รุนแรง คือ เกิดตุ่มพอง ผิวหนังลอก ที่เรียกว่าการแพ้แบบ สตีเวนส์-จอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome หรือ SJS) และท็อก-ซิก อีพิเดอร์มัลเนโครไลซิส (Toxic Epidermal Necrolysis หรือ TEN) ร่วมกับอาการแทรกซ้อนในระบบอื่นๆได้ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ยาที่มักทำให้เกิดการแพ้แบบรุนแรง มีดังนี้
- ยารักษาโรคเกาต์เช่น allopurinol
- ยากันชัก เช่น carbamazepine, phenobarbital, phenytoin และlamotrigine
- ยาแก้ปวด/ต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, meloxicam, piroxicamและtenoxicam
- ยาต้านไวรัส HIV เช่น nevirapine, abacavir
- ยากลุ่มซัลฟา เช่น co-trimoxazole, sulfasalazine
- ยากลุ่มเพนนิซิลินเช่น amoxicillin
- ยารักษาวัณโรคเช่น rifampicin, isoniazid pyrazinamide, ethambutol
- Dapsone
การแพ้ยาในกลุ่มเดียวกัน คืออะไร
การแพ้ยาในกลุ่มเดียวกัน หมายถึง เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยได้รับยา (ทั้งจากตนเองหรือผู้ดูแลหรือจากบุคลากรทางการแพทย์) แล้วเกิดอาการแพ้ยาโดยมีลักษณะเหมือนอาการที่เคยแพ้มาก่อนจากยาที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกัน
จะทราบได้อย่างไร ว่าสามารถแพ้ยาตัวไหนได้บ้าง
การแพ้ยาไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย และไม่สามารถคาดเดาหรือทำนายได้ว่า ผู้ป่วยจะแพ้ยาตัวไหน ดังนั้น หากอยากทราบว่า ยาตัวไหนกินแล้วแพ้ยาหรือไม่ ให้ผู้ป่วยสังเกตอาการนำเบื้องต้นหลังจากรับประทานยาตัวนั้น เช่น เจ็บคอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่ม มีผื่นขึ้นบริเวณลำตัวแขนขา หน้าบวม ตาบวม เจ็บผิว เจ็บตามตัว มีอาการเจ็บเคืองตา เจ็บปาก กลืนเจ็บ ปัสสาวะแสบขัด ผื่นอาจมีลักษณะพองเป็นตุ่มน้ำหรือเกิดการหลุดลอกของผิวหนัง และมีการหลุดลอกของเยื่อบุต่างๆ ร่วมด้วย
หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา ต้องระวังยาตัวไหนอีกบ้าง
ยาที่ต้องระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา คือ ยาที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกันกับยากลุ่ม Sulfonamides ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ได้แก่ กลุ่มยาต่อไปนี้
- ยาปฏิชีวนะ (Antimicrobial) ยกตัวอย่างเช่น Silver sulfadiazine (Silverol®, Dermazin®), Sodium sulfacetamide, Sulfamethizole (Luco-oph®), Sulfamethoxazole (Bactrim®,Co-trimoxazole) Phthalylsulfathiazole (Disento®)
- ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Carbonic anhydrase ยกตัวอย่างเช่น Acetazolamide (Diamox®), Dichlorphenamide, Methazolamide (Neptazane®)
- ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Loop diuretics และ Thiazides ยกตัวอย่างเช่น Chlorthalidone (Tenoret®) Hydrochlorothiazide (HCTZ, Moduretic®, Hyperretic®,Dyazide®), Indapamide (Natrilix®), Bumetanide, Furosemide (lasix®),Torsemide
- ยารักษาเบาหวาน (Oral hypoglycemic agents กลุ่ม Sulfonylureas) ยกตัวอย่างเช่น Chlorpropamide (Diabinese®), Glimepiride (Amaryl®), Glipizide (Minidiab®), Gliclazide (Diamicron®), Glibenclamide (Daonil®), Tolbutamide, Tolazamide
- ยากลุ่มอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น Celecoxib (Celebrex®), Dapsone, Nimesulide (Nidol®), Parecoxib (Dynastat®), Sulfasalazine (Salazopyrin EN®,Saridine®), Sumatriptan (Imigran®), Zonisamid เป็นต้น
ดังนั้นคำถามที่สงสัยว่า ถ้าผู้ป่วยท้องเสียแต่มีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา สามารถรับประทานยา Norfloxacin ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้นะคะ เนื่องจากยา Norfloxacin เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ ที่อยู่ในกลุ่ม Fluoroquinolones ซึ่งมีสูตรโครงสร้างต่างจากยากลุ่มซัลฟานั่นเองค่ะ
เพื่อป้องกันการเกิดแพ้ยาซ้ำ แนะนำว่า ทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล ร้านยาหรือคลินิก แนะนำให้พกบัตรแพ้ยาติดตัวไปด้วยทุกครั้ง และจดจำชื่อยาให้ได้ พร้อมทั้งอย่าลืมแสดงบัตรแพ้ยาให้บุคลากรทางการแพทย์ดูเสมอด้วยนะคะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, วารสารเรื่อง การป้องกันการแพ้ยาซ้ำในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ Sulfonamide